"วีรพงษ์"แนะใช้วายุภักษ์ถือหุ้นรสก.แทนคลังลดภาระหนี้สาธารณะเปิดทางพัฒนาประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 17, 2012 12:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวถึงแนวทางในการหาเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการพัฒนาระบบราง การลงทุนในโครงสร้าพื้นฐานว่า การระดมทุนจะเน้นจากในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากในระยะ 15 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอดและมีทุนสำรองค่อนข้างสูงมาก

สำหรับแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการในขณะนี้ คือ การโอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินกลับไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รับภาระ และอีกส่วนหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้ก็คือ การบริหารจัดการหุ้นของรัฐวิสาหกิจโดยผ่านกองทุนวายุภักษ์แทนกระทรวงการคลัง ทั้ง บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.การบินไทย (THAI) ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศ

"ถ้าซื้อหุ้น ปตท. 2% จะทำให้หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้หนี้สาธารณะไม่เพิ่ม"นายวีระพงษ์ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ"การฟื้นฟูและหนทางข้างหน้าของประเทศไทย" ในงาน CEO Forum

ทั้งนี้ ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพจะใช้รูปแบบของ single command unit โดยนายกรัฐมนตรี ลงมาดูแลเอง เพื่อแก้ปัญหาการจัดการที่ไม่เป็นเอกภาพของการทำงานอิงการเมืองที่ไม่ได้หวังผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ ยกตัวอย่าง แค่การเปิดประตูระบายน้ำ 10 ซม.ต้องใช้เวลาตัดสินใจ 2 วัน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่เคยประกาศไว้ คือ มีเวลาที่เหลืออยู่อีก 6-7 เดือนก่อนเข้าสู่ฤดูฝน แม้จะมีน้ำมากเท่าปีที่แล้ว แต่น้ำจะต้องไม่ท่วมซ้ำอีก แนวทางหลักคือการระบายน้ำ โดยพื้นที่ตอนบนของประเทศจะเป็นที่พักน้ำ และตอนล่างงจากปากน้ำโพลงมาจะเป็นที่ระบายน้ำ ซึ่งจะมีการสร้างทางระบายน้ำสายใหม่เป็น Water Channel หรือ Floodway ก็ตาม เพื่อจะแบ่งน้ำเป็น 3 ส่วนเพื่อระบายลงสู่ทะเล

"เราจะถือโอกาสนี้หลังจากวิกฤตไม่ใช่แค่การซ่อมแซมเท่านั้นแต่จะต้องยกระดับการพัฒนาประเทศในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข การศึกษา ไปพร้อมๆ กันเพื่อให้ภูมิภาคอาเซียน เป็นคู่ค้าที่สำคัญของจีน และอินเดีย โดยมีไทยเป็นประเทศหลัก...มุ่งหวังที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาของเอเชียที่จะเป็นหัวเรื่องใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจในศตวรรษหน้า เพราะเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะต้องตกต่ำลงอย่างแน่นอน เอเชียจะเป็นตัวจักรสำคัญของเศรษฐกิจ ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำคือจะอย่เฉยไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องเร่งดำเนินการในระยะ 5-6 ปีที่จะถึงนี้" นายวีรพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ