พาณิชย์ เผยสายการบินรับผล EU เก็บค่าปล่อยก๊าซคาร์บอน เล็งขยายไปอุตฯอื่นเพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 17, 2012 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ขยายขอบเขตของระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Emission Trading Scheme: ETS) ไปยังอุตสาหกรรมการบิน โดยมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 55 ทำให้สายการบินภายในและระหว่างประเทศที่บินเข้าออกสนามบินใด ๆ ของ EU รวมทั้ง ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ และนอร์เวย์ ต้องซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซ GHG ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น หลายประเทศ อาทิเช่น สหรัฐฯ จีน บราซิล รัสเซีย และญี่ปุ่น เป็นต้น ต่างไม่เห็นด้วยกับมาตรการฯ ดังกล่าวของ EU และได้ฟ้องร้อง EU ว่าฝ่าฝืนอำนาจอธิปไตยนอกพรมแดนและผิดหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 54 ศาลยุติธรรมยุโรป (European Court of Justice: ECJ) ได้ตัดสินว่าการรวมสาขาการบินเข้าสู่ระบบ ETS นั้น ไม่ขัดกับกฎหมายฯ และถือเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมนอกอาณาจักร และไม่ขัดต่อพันธกรณีใน Open Skies Agreement ที่ให้ยกเว้นการเก็บภาษี อากร ค่าธรรมเนียม และค่าภาระต่าง ๆ กับน้ำมัน เนื่องจากต้นทุนที่สายการบินต้องรับภาระภายใต้ ETS จะคิดจาก Allowance ที่สายการบินได้รับจัดสรรในชั้นต้นเทียบกับราคาตลาด ณ เวลาที่ต้องซื้อ Allowance เพิ่มเติมในภายหลัง โดยไม่ได้คิดจากราคาน้ำมัน

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า จากผลการตัดสินฯ ของ ECJ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสายการบินของไทย และสายการบินอื่น ๆ ที่ต้องบินเข้าออกสนามบินของ EU อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ในปี 56 EU จะขยายขอบเขตการดำเนินการของระบบ ETS ไปยังสาขาอลูมิเนียม ปิโตรเคมี และแอมโมเนีย ดังนั้นผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก สิ่งทอ กระดาษ ยาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และปุ๋ย เป็นต้น ควรเตรียมความพร้อมในการปรับกระบวนการผลิต เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ