นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คาดว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปี 55 จะมีปริมาณขายเพิ่มขึ้นเป็น 1.1 ล้านคัน หรือเติบโต 38.5% จากปี 54 ที่มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 794,081 คัน ลดลง 0.8% เนื่องจากผลกระทบปัญหาอุทกภัย โดยในเดือน ธ.ค.54 มีปริมาณการขาย 54,575 คัน ลดลง 41.4%
ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่นและภาวะน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย แต่ด้วยความต้องการที่สูงขึ้นทำให้ในที่สุดยอดขายทั้งปียังใกล้เคียงกับปีก่อน
โตโยต้า ยังยืนยันที่จะลงทุนในประเทศไทยมูลค่า 8.2 พันล้านบาท โดยจะตั้งโรงงานผลิตแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ เป็นโรงงานผลิตรถยนต์เกตเวย์ 2 ซึ่งจะเปิดสายการผลิตพร้อมกับโรงงาน TAW ที่เคยผลิตรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ ทั้งสองโรงงานจะมีกำลังการผลิตรวม 8.8 หมื่นคัน นอกจากนั้น โรงงาน STM ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องยนต์ก็จะมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ทั้งนี้ โตโยต้าตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ในประเทศปี 55 ที่ 4.5 แสนคัน เพิ่มขึ้น 55.1% ส่วนแบ่งการตลาด 40.9% จากปี 54 ที่ยอดขายลดลง 11.0% มาอยู่ที่ 290,061 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 36.5% ขณะที่การส่งออกในปีนี้มีเป้าหมายที่ 375,000 คัน เพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อน มูลค่า 1.57 แสนล้านบาท และส่งออกชิ้นส่วน 64,700 ล้านบาท รวมมูลค่าส่งออกทั้งหมด 221,700 ล้านบาท
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โรงงานแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ จะเปิดในเดือนก.ค.56 กำลังผลิต 7 หมื่นคัน เงินลงทุน 7 พันล้านบาท ส่วนโรงงาน TAW จะเปิดสายการผลิตในเดือนธ.ค.นี้ มีกำลังผลิต 1.8 หมื่นคัน ลงทุน 1.2 พันล้านบาท และเมื่อโรงงานโตโยต้าเปิดครบทั้ง 5 แห่งแล้วจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 7.6 แสนคัน
สำหรับการผลิตปัจจุบัน มีการผลิตเต็มกำลัง 100% ขณะที่ลูกค้าที่จองรถคาดว่าจะสามารถผลิตให้ทัน สำหรับรถทั่วไปมี Back Order ค้างอยู่ 3 เดือน ส่วนฟอร์จูนเนอร์มี Back Order ค้างอยู่ 5 เดือน
สำหรับโรงงานที่จะสร้างใหม่ คาดว่าจะเพิ่มการจ้างงาน เฉพาะชั่วโมงธรรมดาไม่รวมโอทีได้อีกมากกว่า 1,500 คน
นายนินนาท กล่าวถึงกรณีรัฐจะมีการปรับโครงสร้างภาษี โดยยึดตามจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ว่า เห็นด้วยในหลักการ แต่เรื่องนี้อยากให้รัฐบาลคุยกับผู้ประกอบการและผู้ผลิตทุกรายให้เกิดความชัดเจนก่อน และขอเวลาในการปรับตัว 3-5 ปี
ส่วนผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง นายนินนาท กล่าวว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด ค่อยเป็นค่อยไป คิดว่าผู้บริโภคคงจะรับได้ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ของโตโยต้าพยายามจะตอบสนองเรื่องการประหยัดน้ำมันอยู่แล้ว กรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและตะวันออกกลางที่จะส่งผลต่อราคาน้ำมันนั้น คงไม่เป็นข้อกังวล และคงมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้
"ในภาพรวมผู้ผลิตรายอื่นจะกระทบหรือไม่กระทบก็ตาม แต่ปัญหาจุดนี้ไม่กระทบต่อส่วนแบ่งการตลาด น่าจะยังรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้" นายนินนาท กล่าว
ขณะที่ความพร้อมที่จะเข้าร่วม AEC ในอีก 3 ปี (ปี 2015) ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีความพร้อมเต็มที่ เพราะมีกำลังการผลิตมากที่สุดในอาเซียน Supply Network มีความเข้มแข็งมาก
ส่วนปัญหาในเรื่องความเสี่ยงผลกระทบต่างๆ อย่างน้ำท่วม ทางบริษัทมีการกระจายความเสี่ยงโดยมีการลงทุนในอินโดนีเซียและอินเดียไว้ด้วย พร้อมยืนยันว่าหากในอนาคตเกิดผลกระทบในเรื่องน้ำท่วมขึ้นมาอีก จะยังปักหลักฐานการผลิตอยู่ที่เดิม โดยมั่นใจว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาได้