เมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ.2488 เครื่องบินรบของสหรัฐได้ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิของญี่ปุ่น การสังหารหมู่ทั้งสองครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันกว่า 200,000 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ส่วนชาวญี่ปุ่นนับแสนคนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในวันนั้นต้องทุกข์ทรมานจากการได้รับสารกัมมันตรังสี บ้างก็เป็นโรคมะเร็ง บ้างก็เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมจนทำให้ลูกหลานเกิดมาพิการ
คงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นอีก แต่ขณะนี้ หลายคนเริ่มประหวั่นพรั่นพรึงแล้วว่า ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอย เมื่อสหรัฐและอิหร่านกำลังขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน และสถานการณ์มีทีท่าว่า จะเลวร้ายลงทุกวัน
นับตั้งแต่อิหร่านเริ่มดำเนินโครงการนิวเคลียร์ครั้งแรก เวลาก็ผ่านมาเนิ่นนานกว่า 50 ปีแล้ว แต่โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษหลังเกิดเหตุก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 โดยสหรัฐเชื่อว่า อิหร่านลักลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และสนับสนุนผู้ก่อการร้าย สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) จึงเข้าไปตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งอิหร่านยืนกรานมาตลอดว่าเป็นการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติ แต่ผลปรากฏว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอยู่ในระดับที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้
ในปี 2549 อิหร่านเดินหน้าเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมซึ่งสามารถใช้สร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้ สหรัฐทั้งเจรจาทั้งขู่ให้อิหร่านล้มเลิกสิ่งที่ทำอยู่ แต่อิหร่านก็ไม่ได้เกรงกลัวแต่กลับมีท่าทีแข็งกร้าว โดยประกาศว่าพร้อมตอบโต้อย่างรุนแรงหากถูกรุกราน ในที่สุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คว่ำบาตรอิหร่าน แต่อิหร่านก็ดำเนินโครงการนิวเคลียร์ต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากนั้นอิหร่านยังคงย้ำตลอดว่าเป็นการพัฒนาเพื่อสันติ และอิหร่านมีสิทธิที่จะทำเช่นนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐและโลกตะวันตกจึงระหองระแหงเรื่อยมา
เหตุการณ์ล่าสุดที่ทำให้ประเด็นนิวเคลียร์อิหร่านเริ่มคุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้งคือ การที่ IAEA ออกมาเปิดเผยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า มีหลักฐานที่เชื่อถือได้เป็นจำนวนมากว่า อิหร่านทำการวิจัยและพัฒนาบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ และเป็นไปได้ที่กิจกรรมเหล่านี้ยังคงดำเนินอยู่ แต่รัฐบาลอิหร่านก็ออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าวอย่างทันควัน
นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สหรัฐและโลกตะวันตกออกมาขู่ว่า จะคว่ำบาตรอิหร่านหากไม่ยุติโครงการนิวเคลียร์ แต่อิหร่านประกาศกร้าวว่าหากอุตสาหกรรมส่งออกน้ำมันซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของอิหร่านถูกคว่ำบาตร อิหร่านจะปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ว่าแล้วในวันที่ 24 ธันวาคม อิหร่านก็ปฏิบัติการซ้อมรบเป็นเวลา 10 วันในบริเวณอ่าวเปอร์เซีย, ช่องแคบฮอร์มุซ และอ่าวโอมาน ถือเป็นการแสดงแสนยานุภาพกลายๆ ว่า อิหร่านสามารถปิดช่องแคบฮอร์มุซได้
ในวันขึ้นปีใหม่ 2555 อิหร่านได้ประกาศข่าวที่ทำให้สหรัฐนั่งไม่ติด เมื่อเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ IRIB TV ของทางการอิหร่าน รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยขององค์การพลังงานปรมาณูแห่งอิหร่าน (AEOI) ประสบความสำเร็จในการผลิตและทดลองตัวอย่างแรกของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ แต่รายงานระบุว่าอิหร่านใช้แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เพื่อผลิตยาสำหรับรักษาโรคมะเร็งเท่านั้น และหลังจากนั้นไม่กี่วันอิหร่านก็ยืนยันว่าได้เริ่มดำเนินการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่อุโมงค์ใต้ดินของโรงงานนิวเคลียร์ฟอร์โดแล้ว แต่ยืนยันเหมือนเดิมว่าเป็นการพัฒนาเพื่อสันติเท่านั้น
พฤติกรรมของอิหร่านทำให้สหรัฐไม่สบอารมณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ จึงเซ็นรับรองกฎหมายใหม่ โดยบังคับไม่ให้มีการทำธุรกรรมกับธนาคารและสถาบันการเงินของอิหร่าน นอกจากนั้นสหรัฐยังเรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรลดการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ไม่นานนักก็มีข่าวว่า บรรดาพันธมิตรของสหรัฐเรียงหน้าออกมารับลูกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ
แต่สุดท้ายแล้วพันธมิตรของสหรัฐก็ออกมาฏิเสธข่าวกันพัลวัน โดยนายปาร์ก จอง ฮา โฆษกประจำตัวประธานาธิบดีลี เมียง บัคของเกาหลีใต้ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆเรื่องการคว่ำบาตรอิหร่าน และนายโช ยัง แจ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ แสดงความลำบากใจว่า เป็นเรื่องยากที่จะหาแหล่งนำเข้าน้ำมันอื่นมาแทนอิหร่าน ขณะที่นายกรัฐมนตรีโยชิฮิโกะ โนดะ ของญี่ปุ่น ก็กล่าวว่า ญี่ปุ่นยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านหรือไม่ ส่วนนายไมเคิล มานน์ โฆษกประจำสหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยว่า อียูยังไม่ตัดสินใจใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่ออิหร่าน
ท่าทีของบรรดาประเทศพันธมิตรทำให้สหรัฐไม่สามารถกดดันอิหร่านได้อย่างใจนึก ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่า อิหร่านมีอิทธิพลไม่น้อยต่อประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งหลาย
สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและโลกตะวันตกยังไม่ทันคลี่คลาย ก็เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นเมื่อวันที่ 11 มกราคม เมื่อมีผู้ลอบวางระเบิดรถยนต์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกลางกรุงเตหะราน ส่งผลให้นายมุสตาฟา อาห์มาดี รอสฮาน นักวิทยาศาสตร์ผู้รับผิดชอบงานแยกก๊าซในโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียม เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวอิหร่านเป็นอย่างมาก
อิหร่านระบุว่า หน่วยสืบราชการลับของอิสราเอล (มอสซาด) เป็นผู้ลงมือก่อเหตุครั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐ (ซีไอเอ) แต่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ออกมาปฏิเสธ ขณะที่ประธานาธิบดีชิมอน เปเรส ของอิสราเอล ก็ยืนกรานว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ทางการอิหร่านกำลังเดินหน้าหามาตรการตอบโต้ โดยระบุว่ามีหลักฐานยืนยันว่าทั้งสองประเทศมีส่วนในการโจมตีนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อิหร่าน 5 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดประธานาธิบดีมาห์มู้ด อาห์มาดิเนจ๊าด ได้สั่งเพิ่มการคุ้มกันเจ้าหน้าที่ด้านนิวเคลียร์ทั้งหมดแล้ว
เมื่อวันที่ 15 มกราคม นายโมฮัมหมัด อาลี คาทิบี ผู้แทนอิหร่านประจำกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (โอเปก) เตือนประเทศเพื่อนบ้านไม่ให้ผลิตน้ำมันส่งออกไปยังตลาดโลกเพิ่มเติม เพื่อชดเชยกำลังการผลิตน้ำมันของอิหร่านที่ลดลงเพราะถูกคว่ำบาตร และหากประเทศเพื่อนบ้านใดผลิตน้ำมันเพิ่มจะถือว่าไม่เป็นมิตรและต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
การที่อิหร่านออกมาประกาศเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า อิหร่านถูกบีบอย่างหนักจนต้องหันไปขอความร่วมมือแกมขู่จากประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดรัฐบาลเดนมาร์กซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอียูในปัจจุบันเสนอว่า อียูควรห้ามประเทศสมาชิกนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นการกดดันอิหร่านระลอกล่าสุด น่ากลัวว่าหากถูกกดดันไปมากกว่านี้ อิหร่านอาจใช้ไม้ตายปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งจะทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันจากกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียไปยังตลาดโลกลดลงถึง 20% และจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง ส่งผลกระทบต่อการครองชีพของประชาชนทั่วโลก แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว อิหร่านและสหรัฐอาจใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน และอาจลุกลามกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกได้
อันที่จริงแล้ว หากสหรัฐต้องการให้อิหร่านยุติโครงการนิวเคลียร์ สหรัฐและทุกประเทศซึ่งครอบครองนิวเคลียร์อยู่ก็ควรจะปลดอาวุธนิวเคลียร์ด้วยเช่นกัน การที่ตนเองถืออาวุธอยู่แล้วบอกให้อีกฝ่ายวางอาวุธ ดูยังไงก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และในเมื่อสหรัฐเองคงไม่มีวันยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ อิหร่านก็คงไม่มีวันยุติโครงการนิวเคลียร์โดยดีเช่นกัน ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงที่ปัญหานิวเคลียร์อิหร่านจะจบลงด้วยเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เหมือนกับที่สหรัฐเคยทำกับหลายประเทศที่แข็งข้อมาแล้ว...รอเพียงเวลาเท่านั้น