นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.54 ติดลบ 2% จากผลกระทบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรง ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการติดลบที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะก่อนหน้านี้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) ได้ประเมินผลกระทบความเสียหายและความสูญเสียจากเหตุน้ำท่วมไว้ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 54 เหลือโตเพียง 1.5% หายไป 3% จากระดับปกติ ขณะที่การส่งออกธ.ค.54 ติดลบเพียง 2% ซึ่งถือว่าดีกว่าที่คาดไว้
นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวในงานสัมมนา International Knowledge Sharing Forum on Flood Management ว่า รัฐบาลได้จัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ โดยนำการทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำของไจก้า และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาผนวกเป็นแผนแม่บท และรัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อสร้างประเทศให้กลับมา ไม่ใช่เพียงแค่การก่อสร้างเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างจริงจัง
"จีดีพีที่หายไป 3% แต่หากเราคำนวณจีดีพีที่สูญเสียทั่วโลกคงร้ายแรง เราต้องรับผิดชอบ หากเราเสนอว่าเราเป็น 1 ในโรงงานผลิตของโลก ดังนั้นเราต้องทำมากกว่านี้เพื่อสร้างความปลอดภัยและความไว้วางใจ" นายกิตติรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้จากการหารือกับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวคิดที่จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากลูกค้าในนิคมฯเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมรอบนิคม ซึ่งเห็นว่าลูกค้าในนิคมฯอาจไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว แม้งบประมาณในการสร้างคัน เขื่อนกันน้ำจะใช้เงินลงทุนสูง แต่การที่รัฐบาลวางแนวทางสนับสนุน เช่นการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การจัดตั้งกองทุนประกันภัยขึ้นมาช่วยในราคาสมเหตุสมผล และรัฐบาลมีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ถือว่าเป็นการป้องกันที่ปลอดภัยทางธุรกิจที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้
ทั้งนี้กองทุนประกันภัยที่จัดตั้งขึ้น ในวงเงินประเดิม 50,000 ล้านบาท คงไม่มีการกำหนดระยะเวลาของกองทุน แต่มองไปถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับประกันภัยในระดับภูมิภาคด้วย
ด้านนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวสัมมนาเรื่อง Post Disaster Needs Assessment ว่า จากผลการศึกษาของทีมที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ประเมินว่าในระยะ 3 ปีข้างหน้าประเทศไทยต้องใช้เงินเพื่อการฟื้นฟูหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ เป็นเงิน 1.4 ล้านล้านบาท โดย 3 ใน 4 เป็นความเสียหายของภาคเอกชนที่ต้องเข้าฟื้นฟู โดยเฉพาะภาคการผลิตถึง 80% ส่วนภาครัฐ คาดว่าต้องลงทุนประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ในการบริหารจัดการน้ำ ระบบขนส่ง เช่น ถนน สะพาน และสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ จะต้องใช้เงิน 4 แสนล้านบาทเพื่อเป็นเงินกู้แก่ภาคเอกชนใช้ฟื้นฟูบูรณะ
ผู้อำนวยการ สบน. ให้ความเห็นถึงการระดมเงินเพื่อจัดตั้งกองทุนประกันภัย 50,000 ล้านบาท ว่า อาจจะต้องกู้เป็น Bank Loan ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของกองทุนหากเป็นระยะสั้น 2-3 ปี ส่วนการกู้เงินตาม พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาท อาจจะเป็นการกู้เงินเช่นเดียวกับโครงการไทยเข้มแข็ง โดยระยะแรกอาจเป็น Bank Loan ก่อน หลังจากนั้นจะรีไฟแนนซ์ออกเป็นพันธบัตรระยะยาว