กลุ่มกรีนพีซกว่า 20 คน รวมยื่นข้อเรียกร้องให้แก่นายศิริศักดิ์ วิทยอุดม รองปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อเรียกร้องให้รมว.พลังงานคนใหม่หยุดดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดที่ไม่คำนึงถึงต้นทุนด้านสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเพิ่มภาระให้กับประชาชน
พร้อมกับได้ยื่นจดหมายและ“บันทึกถ่านหิน"ซึ่งเป็นข้อมูลผลกระทบภายนอกของถ่านหินแก่กระทรวงพลังงานให้ยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดที่กำหนดไว้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2553-2573(PDP 2010) ทั้งด้วยเหตุผลของความไม่โปร่งใสในการวางแผนพลังงาน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และต้นทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้นำมาคิดคำนวณและผลักภาระให้ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับผลกระทบจากการขยายโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหิน
เนื่องจากหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น 8,400 เมกะวัตต์ ตามแผนพีดีพี 2010 ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดจากถ่านหินจะคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 52,340,000,000 บาท/ปี
การวางแผนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ผ่านมาได้คิดเพียงต้นทุนของถ่านหินเพียงอย่างเดียว มิได้คำนวณ ต้นทุนผลกระทบภายนอก (external cost) ซึ่งยังคงทำให้ถ่านหินกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ถูกที่สุดในบรรดาเชื้อเพลิงอื่นๆ และเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงหลักของการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิเคราะห์แผนทางเลือกการผลิตไฟฟ้าของภาคประชาชน 2010 พบว่า ถ่านหินนำเข้าที่ระบุไว้ในแผนพีดีพี 2010 จะทำให้เกิดต้นทุนผลกระทบภายนอกตั้งแต่ 2.77 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปีพ.ศ. 2553 ถึง 5.234 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี พ.ศ. 2573 ในขณะที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีต้นทุนภายนอกตั้งแต่ 6.56 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี พ.ศ. 2553 และจะเริ่มลดลงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2567 เนื่องจากทยอยปิดหน่วยผลิตที่หมดอายุไปเรื่อยๆ จนเหลือ 3.25 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปีพ.ศ. 2573 ตามแผนพีดีพี 2010
“การวางแผนและตัดสินใจนโยบายพลังงานชี้ชัดว่า กระทรวงพลังงานบิดเบือนข้อมูลต้นทุนผลกระทบภายนอกของถ่านหินมาโดยตลอด และเพิกเฉยต่อตัวเลขกว่า 5 หมื่นล้านบาทนี้ ที่กำลังจะตกเป็นภาระของประชาชนที่จะต้องแบกรับกับวิกฤตการจัดการพลังงานของรัฐบาล" น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
ขณะที่แผนพีดีพีฉบับใหม่ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้นตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ขณะนี้มีอย่างน้อย 13 พื้นที่ที่หน่วยงานของภาครัฐกำลังเข้าไปสำรวจพื้นที่สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองถ่านหินทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ลาวและพม่า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสายส่งตามแผนพีดีพีฉบับปัจจุบันที่กำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไข ผู้คนในพื้นที่เหล่านั้นกำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากแผนการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินสกปรกที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด ในเมื่อข้อมูลและความถูกต้องของต้นทุนจริงของถ่านหินถูกบิดเบือนตั้งแต่การวางแผนพลังงานในระดับนโยบาย แผนพลังงานของประเทศฉบับที่มีการแก้ไขใหม่ก็จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนเพราะมาจากการวางแผนพลังงานที่ขาดความโปร่งใสและถูกต้อง" น.ส.จริยา กล่าว