ผู้ค้ายางมองสถานการณ์ปีนี้ไม่เลวร้ายหลังปีก่อนผันผวนสุดเป็นประวัติการณ์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2012 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายหลักชัย กิตติพล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยฮั้วยางพารา กล่าวว่า ในปี 55 สถานการณ์ราคายางพาราน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และหากยุโรปสามารถแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าได้ดีกว่าปัจจุบัน สถานการณ์ก็คงจะไม่เลวร้าย รวมถึงฝากรัฐบาลตั้งใจดูแลปล่อยให้ราคายางพาราเป็นไปตามกลไกตลาด อย่าทำให้ราคาสูงมากเดินไปจนผู้ใช้รับไม่ได้ และเปลี่ยนไปใช้ยางเทียม ขณะเดียวกันก็อย่าปล่อยให้ราคายางตกต่ำมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เกษตรกรไม่พอใจ

สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อราคายาง คือ เศรษฐกิจยุโรป ต้องติดตามว่าหลังจากนี้ะปัญหาจะทรงตัวดีขึ้นหรือเลวร้าย, กลไกการควบคุมราคาของรัฐบาลที่จะดูแลไม่ให้ราคาสูงเกินไปหรือต่ำเกินไปจนเกษตรกรอยู่ไม่ได้ ขณะเดียวกันทั้งรัฐและเกษตรกรไม่ต้องห่วงว่าราคายางจะบิดเบือน เพราะมีบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCo) จะช่วยดูแลอยู่

ส่วนนโยบายการส่งเสริมการเพาะปลูกยาง 8 แสน -1 ล้านไร่นั้น นายหลักชัย กล่าวว่า ควรจะดูตามความเหมาะสม และต้องบริหารจัดการไม่ให้โอเวอร์ซัพพลายดีมานด์

อย่างไรก็ดี นายหลักชัย ยอมรับว่า ในปี 54 ที่ผ่านมา ราคายางผันผวนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยในเดือนก.พ.ราคายางขึ้นไป 180-190 บาท/กก.แต่หลังจากนั้นเดือน มี.ค.เริ่มปรับตัวลดลงเพราะญี่ปุ่นเจอกับภัยพิบัติสึนามิ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ความต้องการยางช็อคไป และสถานการณ์ลากยาวมาถึงปลายปี 54 ที่ราคาต่ำลงมากจนเกษตรกรไม่พอใจและเรียกร้องให้รัฐบาลหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ

"ปลายปีราคายางตกลงมามาก เพราะว่าก่อนหน้านั้นเกิดการเก็บสต็อคยางกันมาก ผู้ค้า ชาวสวน เกษตรกร ผู้ส่งออก ต่างพากันเก็บสต็อคยางจนทำให้เกิดดีมานด์เทียม ถ้าเกษตรกรไม่ออกมาเทน้ำยางที่ ราคายางก็จะขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งไปเทน้ำยางเรียกร้องให้รบแก้ปัญหา ส่งผลให้ราคายางปรับตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ"นายหลักชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากนี้ราคายางน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะมีความหวังจากเศรษฐกิจยุโรป จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ออกมาประกาศให้ความช่วยเหลือประเทศยูโรโซน ทำให้เศรษฐกิจยุโรปอาจจะไม่ถึงขั้นล้มละลายอย่างที่กูรูแวดวงการเงินของประเทศไทยหลายคนออกมาคาดการณ์ก่อนหน้านี้

"จากการที่ผมคุยกับกูรูยางต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นกู๊ดเยียร์ บริดจ์สโตน มิชลิน ผู้ผลิตรายใหญ่เหล่านี้ไม่ได้มองเหมือนกูรูบ้านเราว่ายุโรปจะแตก จะล้มละลายเพราะกว่าที่ยุโรปจะรวมตัวกัน วันนี้ยุโรปมาไกลเกินกว่าที่จะแตกง่ายๆ เพราะยังมีอกีหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตระดับโลก เช่น เยอรมนี ก็มีกลยุทธ์ที่จะไม่ทำให้เศรษฐกิจย่อยยับลงไป"นายหลักชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ