นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนธ.ค.54 และทั้งปี 54 ว่า ยอดส่งออกทั้งปี 54 รวมทั้งสิ้น 228,825 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.2% ขณะที่ยอดนำเข้ารวมทั้งสิ้น 228,491 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 24.9% ส่งผลให้ในปี 54 ไทยเกินดุลการค้า 335 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกในปี 54 ถือว่าทำได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัวได้ 15%
"มูลค่าการส่งออกทั้งปี 54 ขยายตัวที่ 17% สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 15% มูลค่าประมาณ 224,000 ล้านเหรียญฯ แต่ตัวเลขขาดดุลการค้าไม่น่าห่วง เพราะในเดือนธ.ค.ผู้ประกอบการเร่งนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ และเครื่องจักรมาฟื้นฟูโรงงานหลังน้ำท่วม ทำให้คาดว่าในเร็วๆ นี้ การส่งออกจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้ อีกทั้งขาดดุลการค้าเป็นเพียงส่วยหนึ่งของเงินที่เข้าประเทศเท่านั้น ยังมีเงินที่เข้ามาจากภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งต้องดูที่ดุลบัญชีเงินสะพัดมากกว่า เพราะจะเป็นภาพครอบคลุมทั้งประเทศ" นายยรรยง กล่าว
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า การส่งออกในปี 55 จะขยายตัวได้ 15% เนื่องจากในปีนี้ไม่มีปัญหาด้านความต้องการของตลาด เพียงแค่มีปัญหาด้านการผลิตที่อาจยังไม่ฟื้นจากเหตุน้ำท่วมในปีก่อน ซึ่งพบว่าความต้องการของตลาดโลกในปีนี้ยังมีมาก ประกอบกับเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะไม่แย่ไปกว่าปีที่แล้ว
สำหรับการส่งออกเดือน ธ.ค.54 มีมูลค่า 17,016 ล้านดอลลาร์ หดตัว 2% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,146 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 19.1% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 2,130 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การส่งออกรายสินค้าเดือน ธ.ค. พบว่า สินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยสินค้ากลุ่มสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 3.7% สินค้าสำคัญที่ขยายตัวทั้งปริมาณ และมูลค่า ได้แก่ ยางพารา, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สำหรับสินค้ากลุ่มอาหาร มูลค่าการส่งออกขยายตัว 10.5% โดยสินค้าที่ขยายตัวมาก ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็ง, ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป, ผัก ผลไม้
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ มูลค่าการส่งออกลดลง 10.2% เนื่องจากผลจากอุทกภัยได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออก ตั้งแต่เดือนต.ค.54 แต่เป็นการลดลงในอัตราที่น้อยกว่าเดือนพ.ย.54 ที่ลดลงถึง 26.7% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรม โดยสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ สิ่งพิมพ์, กระดาษ, ผลิตภัณฑ์ยาง, อาหารสัตว์เลี้ยง, ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น
ตลาดส่งออกในเดือนธ.ค.54 มีเพียงตลาดศักยภาพสูงเพียงตลาดเดียวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดหลักและตลาดศักยภาพรองขยายตัวลดลง โดยตลาดหลัก(Matured Market) ส่งออกลดลง 7.7% เป็นการลดลงของสหภาพยุโรป 15% ญี่ปุ่น 4.6% และสหรัฐอเมริกา 3.5%
ตลาดศักยภาพสูง (Dynamic Market) ส่งออกเพิ่มขึ้น 5% โดยอาเซียน 9 ขยายตัว 16% และอินเดียขยายตัว 14.9% ขณะที่ตลาดศักยภาพรอง(Emerging Market) ส่งออกลดลง 7.7% เป็นการลดลงของแอฟริกา, ทวีปออสเตรเลีย, สหภาพยุโรป และตะวันออกกลาง