"ธีระชัย"ยันหนี้ต่องบประมาณปี 55 ไม่ถึง 12%เตือน"กิตติรัตน์"เช็คข้อมูล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 23, 2012 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง โพสต์บทความลงในเฟซบุ๊คบ่ายวันนี้เกี่ยวกับ อัตราภาระหนี้ต่องบประมาณที่ถูกต้องว่า ในปีงบประมาณ 55 อัตราส่วนดังกล่าวเป็นเพียงร้อยละ 9.33 มิใช่ร้อยละ 12 ตามที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ชี้แจงต่อ ครม. โดยอ้างความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อมิให้การรับภาระดอกเบี้ยแนกองทุนฟื้นฟู เป็นภาระแก่งบประมาณต่อไป มิฉะนั้นจะไม่มีช่องว่างพอเพียงที่รัฐบาลจะกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำ

"ผมได้ทราบภายหลังว่ารองนายก (นายกิตติรัตน์) ได้ข้อมูลนี้ไปจากสภาพัฒน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์ได้คำนวณโดยใช้ตัวเลขจากประมาณการเศรษฐกิจ และในการประชุมคณะรัฐมนตรีทั้งสองครั้ง เลขาธิการสภาพัฒน์ซึ่งนั่งอยู่ในห้องประชุมด้วย ก็มิได้แก้ไขข้อมูลนี้เป็นอย่างอื่น...ก่อนหน้าที่ผมจะพ้นตำแหน่งเพียงหนึ่งวัน เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังได้นำข้อมูลจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะมาแจ้งให้ผมทราบว่า สำหรับปีงบประมาณ 2555 นั้นอัตราส่วนดังกล่าวเป็นเพียงร้อยละ 9.33 มิใช่ร้อยละ 12 เกิดจากการชำระหนี้เงินต้นร้อยละ 1.97 และจากการชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.36 รวมเป็นร้อยละ 9.33 และเป็นการคำนวณจากตัวเลขที่เป็นทางการในกฎหมายงบประมาณที่เพิ่งผ่านสภาไปเร็วๆ นี้" นายธีระชัย ระบุ

นายธีระชัย กล่าวว่า รู้สึกตกใจมากกับข้อมูลตัวเลขดังกล่าว เพราะทำให้เหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการที่จะต้องออกกฎหมายในรูปแบบ พ.ร.ก.ต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่เนื่องจากการทำงานของสภาพัฒน์นั้นขึ้นกับรองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงการคลัง จึงยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าอัตราส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณของ 2 หน่วยงานจึงแตกต่างกันมาก และตนเองได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน

ทั้งนี้ ขอเสนอแนะ นายกิตติรัตน์ เนื่องจากมีหน้าที่กำกับดูแลทั้งสภาพัฒน์และสำนักบริหารหนี้สาธารณะที่ควรจะให้มีการศึกษาเปรียบเทียบตัวเลข และวิธีการเก็บข้อมูล รวมถึงวิธีคำนวณของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อให้ปรากฏตัวเลขที่ถูกต้องในการปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอหลักการและเหตุผลสำหรับพระราชกำหนดทั้ง 4 ฉบับ ในลักษณะที่เป็นเรื่องเดียวกันที่ผูกโยงไว้ด้วยกัน โดยใช้ข้อความเดียวกันทุกประการทั้ง 4 ฉบับ ดังนั้น หากมีการตีความว่าฉบับใดฉบับหนึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้พระราชกำหนดทั้ง 4 ฉบับติดขัดไปด้วยพร้อมกัน

"ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องด่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลังคนใหม่นะครับ" นายธีระชัย ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ