นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร (Food Safety) ระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารของไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยเป็นการดำเนินงานในลักษณะการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ จากการสำรวจเกษตรกร ผู้รวบรวมผลผลิต ผู้แปรรูป ผู้ส่งออก ผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการประเมินผลยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร (Food Safety) ช่วงปี 53-54 พบว่าการดำเนินงานสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันได้บางยุทธศาสตร์
ผลได้ทางตรงที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรคือ รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น จากการลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีลงทำให้ต้นทุนลดลง และสินค้าไทยได้รับความเชื่อมั่นในต่างประเทศ ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก และลดการตีกลับสินค้าจากต่างประเทศ ส่วนผลทางอ้อมคือ การได้รับประโยชน์จากการลดการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภครวมทั้งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าเกษตรมากขึ้น และพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ ร้อยละ 64 ยินดีที่จะจ่ายในราคาที่สูงขึ้นหากสินค้ามีคุณภาพ ส่วนผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยยังคงสนใจสินค้าราคาต่ำมากกว่าคุณภาพ อย่างไรก็ดี การดำเนินยุทธศาสตร์ยังพบปัญหาที่บางหน่วยงานมีความพร้อมในการดำเนินค่อนข้างน้อย เกษตรกรส่วนหนึ่งขาดแคลนเงินทุน ที่ดิน และการรวมกลุ่มผลิตมีน้อย รวมทั้งไม่มีตราสินค้าเฉพาะ ทำให้ต้องขายสินค้าในราคาปกติ และต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงผลงานวิจัยและการพัฒนาสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้ประชาชนตระหนักในการบริโภคยิ่งขึ้น
สำหรับในการดำเนินงานระยะต่อไป ควรเน้นกลุ่มเกษตรกรที่มีความสนใจและพร้อมเข้าร่วมโครงการ และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาหารปลอดภัยตั้งแต่ผู้ผลิตไปถึงผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น และหน่วยงานด้านวิจัยตลาดสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าที่ภาครัฐลงทุนทรัพยากรในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง