IMF เตือนรัฐบาลทั่วโลกไม่ควรใช้มาตรการคุมเข้มการคลังเพิ่ม หวั่นฉุดศก.ถดถอย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 25, 2012 09:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยในรายงาน "Fiscal Monitor" ครั้งล่าสุด โดยระบุว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆทั่วโลกควรจะหลีกเลี่ยงการรับมือกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจด้วยการใช้มาตรการคุมเข้มด้านการคลังเพิ่มเติม

รายงานของไอเอ็มเอฟระบุว่า ในปี 2554 ยอดขาดดุลการคลังของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ลดลง 1% จากปีก่อนหน้านั้น มาอยู่ที่ระดับ 6.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ส่วนยอดขาดดุลงบประมาณของกลุ่มประเทศยูโรโซนลดลง 2% แตะระดับ 4.3% ของจีดีพีในปี 2554 ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวที่ยอดขาดดุลการคลังขยายตัวขึ้นในปี 2554 เนื่องจากญี่ปุ่นต้องนำงบประมาณมาใช้จ่ายในการบูรณะก่อสร้าง หลังจากเกิดภัยพิบัติทางธรรรมชาติ โดยยอดขาดดุลงบประมาณของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้น 0.8% สู่ระดับ 10.1% ของจีดีพี

ส่วนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่นั้น ยอดขาดดุลการคลังลดลง 1% มาอยู่ที่ 2.6% ของจีดีพี ในปี 2554 และตัวเลขหนี้สาธารณะลดลง 3% แตะที่ 37.8% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ระดับ 103.5% ของจีดีพีในปี 2554 ส่วนตัวเลขหนี้สาธารณะในกลุ่มยูโรโซนเพิ่มขึ้น 3.1% แตะที่ 88.4% ของจีดีพีในปี 2554

ไอเอ็มเอฟระบุว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศได้ประกาศใช้มาตรการใหม่ๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดยอดขาดดุลงบประมาณ แต่ไอเอ็มเอฟเตือนว่า หากมีการใช้มาตรการด้านการคลังที่เข้มงวดมากจนเกินไปในปี 2555 ก็อาจทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะขาลง

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟเตือนว่า วิกฤตหนี้สาธารณะของยูโรโซนกำลังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะฉุดเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลงในปีนี้ด้วย

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงสู่ระดับ 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4% และคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัว 0.5% ในปีนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ