นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดผยว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง ระยะเวลา 3 ปี(2555-2557) โดยมีแผนบูรณาการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการ พัฒนาบุคลากร พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลเอกสารวิชาการ ระบบสารสนเทศและเครือข่าย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาและนักวิจัยในการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มเกษตรกร เกษตรกรเครือข่าย ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูป และบุคคลทั่วไป ขณะเดียวกันยังร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือ วิเคราะห์และแก้ปัญหาด้านการผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรทั่วประเทศด้วย
ด้านนายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรและสถาบันพัฒนามันสำปะหลังฯ(ห้วยบง) ยังได้มีแผนร่วมมือกันเร่งฝึกอบรมองค์ความรู้จากผลงานวิจัยด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง ทั้งเรื่องพันธุ์มันสำปะหลัง การเขตกรรม การปลูก การจัดการดูแลรักษา โรคและแมลงศัตรูพืช ตลอดจนการเก็บเกี่ยวและเพิ่มประสิทธิภาพหลังการเก็บกี่ยวให้กับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้นำไปถ่ายทอดสู่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และเกษตรกรเครือข่ายใช้ในการพัฒนาระบบการผลิตมันสำปะหลังในแปลงของตนเองต่อไป เบื้องต้นได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้เกษตรกรจากเดิม 3.6 ตัน/ไร่ เป็น 5 ตัน/ไร่ ซึ่งคาดว่าผลผลิตผลมันสำปะหลังที่เคยสูญเสียไป 25% จะได้กลับคืนมา สำหรับแผนการผลิตแตนเบียน A. lopezi ของทั้งสามหน่วยงาน เพื่อใช้ควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้ง ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรมีแผนผลิตแตนเบียนพันธุ์หลัก เป้าหมาย 100,000 คู่ ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นพันธุ์ขยายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันศูนย์ต้นแบบของกรมวิชาการเกษตร จำนวน 34 แห่ง ยังสามารถผลิตแตนเบียนได้เพิ่มอีก โดยมีกำลังการผลิตรวม 3-5 ล้านคู่ ขณะที่สถาบันพัฒนามันสำปะหลังฯ(ห้วยบง)มีกำลังการผลิตแตนเบียนได้อีกกว่า 100,000 คู่/เดือน นอกจากนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรยังได้มีการผลิตแตนเบียน จำนวน 10 ล้านคู่ และแมลงช้างปีกใส 17 ล้านตัว พร้อมส่งเสริมให้ชาวไร่มันสำปะหลังนำไปปล่อยในแปลงซึ่งคาดว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ "การสร้างความร่วมมือระหว่างสามหน่วยงานครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยพัฒนาระบบการผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งยังช่วยลดความสูญเสียและเพิ่มปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังโดยรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีวัตถุดิบเพียงพอป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูปพร้อมหนุนภาคการส่งออก และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้ามันสำปะหลังไทยในตลาดโลกได้” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว