นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า เตรียมนำผู้บริหารสมาคมฯ เข้าพบนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เพื่อขอรับทราบนโยบายเรื่องการส่งเสริมการใช้เอทานอลอย่างชัดเจน เนื่องจากขณะนี้ความต้องการใช้เอทานอลลดลง ล่าสุดอยู่ที่ 1-1.1 ล้านลิตรต่อวัน เทียบกับช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.3-1.4 ล้านลิตรต่อวัน โดยสาเหตุที่ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลลดลงส่วนหนึ่งมาจากปัญหาน้ำมันท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่สถานการณ์เอทานอล โดยเฉพาะเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลัง ขณะนี้โรงงานยังไม่สามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตได้ตามปกติ เนื่องจากต้นทุนราคามันสดเพิ่งปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.40-2.50 บาทต่อกิโลกรัม จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 3.15 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันราคาเอทานอลในประเทศอยู่ที่ 20 บาทต่อลิตร เมื่อเทียบกับต้นทุนดังกล่าวถือว่ายังไม่คุ้มทุน โดยหากจะทำให้อุตสาหกรรมเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลังอยู่ได้ ราคามันสดจะต้องอยู่ที่ 1.90-2 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเอทานอลควรอยู่ที่ 21-22 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ ผู้ผลิตเอทานอลต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมการใช้เอทานอล เพราะช่วงที่ผ่านมา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน เตรียมจะยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ภายในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า รมว.พลังงานคนใหม่จะสานต่อนโยบายดังกล่าวหรือไม่ เพราะหากเป็นไปตามแผนงานดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้ยอดใช้เอทานอลปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้เอทานอลจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ ภายในเงื่อนไขว่าจะมีการปรับราคาก๊าซและดีเซลเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะหากไม่มีการปรับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ก็จะทำให้ประชาชนหันไปใช้ก๊าซมากขึ้น เพราะราคาถูกกว่าน้ำมันมาก ในทางกลับกันหากมีการปรับขึ้นราคาก๊าซตามแผนเดิม ก็จะทำให้ความต้องการใช้แก๊สโซฮอล์ปรับเพิ่มขึ้น
สำหรับสถานการณ์เอทานอลในช่วงไตรมาส 1/55 คาดว่าราคาจะอยู่ที่ 20-21 บาทต่อลิตร เทียบกับราคาอ้างอิงของกระทรวงพลังงานอยู่ที่ 22.35 บาทต่อลิตร ปัจจุบันบริษัทน้ำตาลอยู่ระหว่างการเปิดหีบอ้อยใหม่ส่งผลให้มีปริมาณกากน้ำตาล(โมลาส) ออกมามาก ส่งผลให้ราคาโมลาสลดลงอยู่ที่ 2.60-2.70 บาทต่อกิโลกรัม จากก่อนหน้านี้ที่ 4-5 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาต้นทุนโมลาสที่ลดลงทำให้เอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลังสู้ไม่ได้
ดังนั้นอยากให้ภาครัฐเร่งหาทางออก โดยส่วนตัวมองไว้สองแนวทางคือ การกำหนดสัดส่วนให้บริษัทน้ำมันรับซื้อเอทานอลจากมันสำปะหลังในราคาที่สูงกว่าเอทานอลจากโมลาส และอีกแนวทางหนึ่งคือการเฉลี่ยปริมาณผลิตของแต่ละโรงงาน เพื่อให้ผู้ผลิตทุกรายอยู่ได้ แต่แนวทางดังกล่าวจะมีปัญหาโดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็ก หากไม่สามารถผลิตได้ตามที่กำหนด จะส่งผลกระทบต่อการส่งเอทานอลให้กับบริษัทน้ำมันหรือไม่ ซึ่งหากไม่สามารถส่งเอทานอลได้ตามกำหนด โรงงานอื่นจะส่งแทนได้หรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ต้องมีความชัดเจน