นายชาญชัย สุวิสุทธะกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สขน.) กล่าวภายหลังงานสัมมนาทางวิชาการโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาระบบการขนส่งที่ยั่งยืนและลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า จากผลการศึกษาพบว่าภาคการขนส่งเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก โดยก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนฯ ในสัดส่วน 13.1% รองจากภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น สนข.จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะก่อน โดยเฉพาะระบบราง
"โครงการแรกที่พบว่าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ คือ โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค โดยพบว่าสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้ปีละ 2.5 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนฯ จะต้องรอผลศึกษาแล้วเสร็จในอีก 5 เดือน ซึ่งแผนแม่บทนี้จะนำไปใช้ได้ภายในปีนี้" นายชาญชัย กล่าว
สำหรับมาตรการแก้ปัญหาด้วยระบบขนส่งอย่างยั่งยืนจะแบ่งออกเป็น 5 ด้าน รวม 54 โครงการ ได้แก่ 1.ด้านการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานและบริหารการเดินทาง เช่น โครงการส่งเสริมการพัฒนาเมืองแบบหลายศูนย์กลาง พัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟชานเมือง การเชื่อมประสานการเดินทางหลากหลายรูปแบบ 2.ด้านการจูงใจทางนโยบายและกฎระเบียบ เช่น โครงการกำหนดเขตปลอดรถยนต์ กำหนดโควตารถยนต์จดทะเบียนใหม่ในแต่ละปี การส่งเสริมการใช้เครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ
3.ด้านการจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ เช่น โครงการควบคุมหรือจัดเก็บค่าที่จอดรถ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเวลาเร่งด่วน 4.ด้านการปลูกจิตสำนึกด้านการขนส่งที่ยั่งยืนและต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการวันปลอดรถยนต์ ส่งเสริมการเดินทางร่วมกัน โครงการทำงานจากระยะไกล และ 5.ด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยมลพิษ เช่น โครงการส่งเสริมการใช้รถยนต์และพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบรายงานสภาพการจราจรแก่ผู้ขับขี่