น้ำมันดิบปรับตัวขึ้น หลังเฟดแถลงตรึงดอกเบี้ยกดดอลล์อ่อน

ข่าวต่างประเทศ Thursday January 26, 2012 21:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาดนิวยอร์กปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่สอง หลังจากที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ที่ตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้นถึง 1.46 ดอลลาร์ สู่ระดับ 100.86 ดอลลาร์/บาร์เรล ณ เวลา 19.54 น.ตามเวลาประเทศไทย หลังจากปิดบวก 45 เซนต์ หรือ 0.5% แตะที่ 99.40 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อคืนนี้ (25 ม.ค.)

ธนาคารกลางสหรัฐมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ที่ระดับ 0 - 0.25 % ในการประชุมระยะเวลา 2 วันซึ่งเสร็จสิ้นเมื่อวานนี้ พร้อมกับยืนยันว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ที่ระดับต่ำเป็นพิเศษต่อไปอย่างน้อยจนถึงปี 2557 จากเดิมที่ระบุไว้ในช่วงกลางปี 2556

แถลงการณ์ของเฟดส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่าหนึ่งเดือนเมื่อเทียบกับยูโร ซึ่งส่งผลให้สินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายกันในสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบ มีราคาน่าดึงดูดสำหรับผู้ที่ถือครองสกุลเงินอื่น

ขณะเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่รายงานวานนี้ ซึ่งระบุว่า การห้ามประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน อาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นถึง 30 ดอลลาร์/บาร์เรล

ไอเอ็มเอฟระบุว่า การห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านโดยไม่มีน้ำมันจากแหล่งผู้ผลิตอื่นมาทดแทน อาจจะทำให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นถึงราว 20-30% ในช่วงแรก และหากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซตามคำขู่ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันถีบตัวสูงยิ่งขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป (อียู) มีมติห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า โดยคำสั่งห้ามดังกล่าวจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป เพื่อตอบโต้อิหร่านที่ดำเนินโครงการนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม อิหร่านก็ได้ออกมาตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของอียูเช่นกัน ด้วยการขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซหากมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวมีผลบังคับใช้

สำหรับอิหร่านนั้น เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) รองจากซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ช่องแคบฮอร์มุซเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันที่สำคัญ โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ