พ.ร.ก.การเงิน 4 ฉบับลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 27, 2012 09:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค.55 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) 4 ฉบับ ตามที่รัฐบาลเสนอ และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ได้แก่ 1. พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555

2. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555

3. พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555

และ 4. พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555

ทั้งนี้ ในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 ได้มีการปรับปรุงบางส่วนเป็นดังนี้

มาตรา 7 ในระหว่างการชำระคืนต้นเงินกู้ตามมาตรา 4 ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ในแต่ละปี ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งเงินกำไรสุทธิที่ต้องนำส่งรัฐตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เข้าบัญชีตามมาตรา 5

(2) ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราหลังจากการจ่ายเมื่อสิ้นปีเข้าบัญชีตามมาตรา 5 เฉพาะเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง พ.ศ.2545 โดยไม่ต้องโอนเข้าบัญชีสำรองพิเศษ

(3) ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนเข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ขณะที่ตามร่างเดิมระบุไว้ว่า มาตรา 7 ในระหว่างการชำระหนี้ต้นเงินกู้ตามมาตรา 4 ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ในแต่ละปีให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งเงินกำไรสุทธิเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เข้าบัญชีตามมาตรา 5 (2) ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราหลังจากการจ่ายเมื่อสิ้นปีเข้าบัญชีตามมาตรา 5 โดยไม่ต้องโอนเข้าบัญชีสำรองพิเศษ (3) ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ส่วน พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัย พ.ศ.2555 มีสาระที่น่าสนใจคือ การให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาทเป็นนิติบุคคล โดยกิจการไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยและกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งได้กำหนดว่ารายได้ของกองทุนไม่ต้องส่งคลังด้วย

รวมถึงมาตรา 18 ที่ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน ซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการที่ ครม.แต่งตั้ง ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม.แต่งตั้ง 4 คน เป็นกรรมการ ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารกองทุนตั้งแต่การทำประกันภัย หรือการลงทุนเพื่อหาผลประโยชน์

ส่วนการตรวจสอบการทำงานก็ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือบุคคลภายนอกที่คณะกรรมการแต่งตั้งตามที่ สตง.เห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายและทรัพย์สิน โดยให้เสนอผลต่อคณะกรรมการและส่งสำเนาต่อ ครม.เท่านั้น

ขณะที่ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555 วงเงิน 3 แสนล้านบาทนั้น ได้กำหนดให้ ธปท.ปล่อยกู้กับสถาบันการเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี โดยสถาบันการเงินที่ได้รับเงินสามารถไปปล่อยกู้ต่อกับบุคคลธรรมดาและวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ในเขตพื้นที่อุทกภัยในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี โดยวงเงินที่จะปล่อยกู้ของ ธปท.จะให้กู้ยืมเพียง 70% และสถาบันต้องสมทบอีก 30% จนเต็มวงเงิน

และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท มีสาระที่น่าสนใจคือ ได้กำหนดให้กู้เงินได้ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.56 และกระทรวงการคลังสามารถนำเงินกู้ดังกล่าวไปให้กู้ต่อกับหน่วยงานรัฐและหน่วยงานต่างๆ เพื่อไปใช้จ่ายในการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศก็ได้ โดยวงเงินการจัดการ และการกู้เงินในแต่ละปีงบประมาณนั้นให้ ครม.อนุมัติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ