นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นโยบายการเงินในปี 55 จะเน้นการดูแลรักษาเสถียรภาพทางด้านเศรฐกิจ เนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อในไทยน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 54 ดังนั้นแนวนโยบายการเงินของ ธปท.ก็จะเน้นทำให้ธุรกิจไทยเติบโตและรับมือความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
"เมื่อมองไปข้างหน้าหนทางสู่อนาคตไม่ได้เป็นถนนที่ราบเรียบ ระหว่างทางยังเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง ทั้งสิ่งกีดขวางเดิมๆ ที่ไม่เคยออกพ้นจากเส้นทาง และสิ่งกีดขวางใหม่ๆ ที่เติมเข้ามาเพิ่มอุปสรรคให้กับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น" ผู้ว่า ธปท. กล่าวในการแถลงทิศทางการดำเนินนโยบายของ ธปท.
สำหรับการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจะบริหารอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาด และหากเป็นไปได้จะลดการแทรกแซง โดยการเข้าไปดูแลตามความจำเป็น หากความสามารถด้านการแข่งขันส่งออกไทยลดลง
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมส่งออกของไทยจะเข้มแข็งไม่ได้หากยังอาศัยการอ่อนค่าของเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐต่อไป ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อการแข่งขัน
"การขายของถูกไม่ได้ทำให้ธุรกิจปรับตัวได้ กลับกันเป็นผลเสียต่อประเทศมากกว่า ซึ่งขณะนี้ลาว พม่า เวียดนามได้เข้ามาแข่งขันในตลาดเดียวกับไทย ดังนั้น ธปท.จะทำให้บาทอ่อนตลอดชีวิตคงไม่ได้" ผู้ว่า ธปท.กล่าว
ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า แนวนโยบายที่ตั้งใจจะดำเนินการในปีนี้จะเป็นการสานต่อปณิธานจุดยืนของ ธปท.ที่หวังจะเห็นเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน แม้ขณะนี้ดูเหมือนปัญหาต่างๆ จะประดังเข้าใกล้ตัวมากขึ้น แต่ความท้าทายโดยรวมยังคงไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่ควรจะเปลี่ยนแปลง คือ จะนิ่งอยู่เฉยไม้ได้ เพราะการนิ่งอยู่เฉยท่ามกลางกระแสการแข่งขันอาจทำให้เราตกขบวนรถไฟได้
ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรเร่งปรับตัวมุ่งไปข้างหน้าแสวงหาการพัฒนา และเตรียมรองรับกับความผันผวนที่จะเข้ามาปะทะในอนาคต ธปท.เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่มีการปรับกลยุทธ์ให้เหมาะกับสถานการณ์ และพร้อมยื่นมือประสานทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ธปท.เตรียมผลักดัน "แผนแม่บทการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายและเงินตราต่างประเทศ" เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับคนไทยในการลงทุนในต่างประเทศเรื่องต้นทุนที่ถูกลง และเสริมความยืดหยุ่นให้กับระบบเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาตลาดการเงิน อาทิ การขยายประเภทนักลงทุนและวงเงินลงทุน การลดขั้นตอนและกฎระเบียบ ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้เตรียมกลไกหรือ Valve เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งระดับความเข้มงวดจะแตกต่างกันตามสถานการณ์ ทั้งนี้ กระบวนการจัดทำแผนแม่บทการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายฯ อยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์(Public hearing) เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ส่วนเรื่องของ พ.ร.ก.โอนหนี้จากกองทุนฟื้นฟูฯ และพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ในวันจันทร์นี้ ธปท.จะหารือกับธนาคารพาณิชย์ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก่อนรวบรวมข้อสรุปไปหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ต่อไป ซึ่ง ธปท.ได้ทำแผนเตรียมเสนอ รมว.คลัง เพื่อทำให้ภาระเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์ไม่สร้างภาระที่เกินไปจนกระทบความเข้มแข้งของธนาคารพาณิชย์
นอกจากนี้ ธปท.จะมีการเสนอการแข่งขันระหว่างธนาคารของรัฐกับธนาคารพาณิชย์บนระนาบเดียวกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความได้เปรียบเสียเปรียบกัน เพราะธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนในการทำธุรกิจที่สูงกว่า โดยจะเสนอ 2 แนวทาง คือ 1.ให้ธนาคารรัฐทำธุรกิจที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ หรือ 2. ให้ทำธุรกิจบนตลาดเดียวกัน แต่ธนาคารรัฐต้องนำส่งเงินสมทบด้วย
ส่วนแนวทางการบริหารจัดการหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาทนั้น ธปท.เชื่อว่าสามารถดูแลบริหารจัดการได้ เนื่องจากพ.ร.ก.ที่ออกมาทางกระทรวงการคลังยังรับผิดชอบเงินต้นและดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯ แต่มอบหมายให้ ธปท.บริหารจัดการ ดังนั้น ธปท.จะเสนอแผนเพื่อไม่ให้สร้างภาระกับธนาคารพาณิชย์มากเกินไป ซึ่งดอกเบี้ยพันธบัตรที่กระทรวงการคลังออกไปเพื่อชดเชยหนี้กองทุนฯ จะครบกำหนดปีนี้ประมาณ 3 แสนล้านบาท ดังนั้นพันธบัตรชุดใหม่ที่จะออก ต้นทุนจะลดเมื่อผสมกับดอกเบี้ยก่อนหน้านี้ ทำให้ภาระดอกเบี้ยของกองทุนฯ ลดลง
ขณะเดียวกันแนวโน้มฐานเงินฝากของธนาคารพาณิชย์สูงขึ้นทำให้มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นในการสมทบ ดังนั้นเท่าที่ประมาณการ ธปท.สามารถดูแลจัดการปัญหานี้ได้ และเงินต้นก็จะลดลง ซึ่งคาดว่าเงินน่าจะหมด 25 ปี ซึ่งจะเริ่มลดดอกลงได้ตั้งแต่ปีนี้ และจากนั้นจะลดเงินต้นไปเรื่อยๆ เป็นลำดับ ตัวเลขหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทก็จะไม่ใช่ตัวเลขที่ใหญ่ต่อไปเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวและเติบโตดี
"ไม่ใช่ว่า ธปท.จะพอใจใน พ.ร.ก.ที่ออกมาทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นการก้าวข้ามความเป็นห่วงแรกของ ธปท. ...สุดท้ายแล้ว ธปท. ก็ต้องบริหารจัดการหนี้ตรงนี้ไป เวลานี้สูตรของ ธปท.ที่คิดว่าพอจะไปได้ คือ การไม่สร้างภาระให้กับแบงก์และประคับประคองกันไป แต่ว่าสิ่งที่ท้าทายมากกว่า คือ การให้ประเทศไปได้ ซึ่งมันต้องอาศัยหลายๆ ฝ่าย ช่วยเหลือกัน มันเป็นสิ่งที่ยากกว่า คือ การทำให้ประเทศก้าวข้ามต่อไป มันก็เป็นโจทย์อีกอย่างหนึ่ง" ผู้ว่า ธปท. กล่าว