กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 32 แห่ง เรื่อง"ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า" พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 28.41 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50 หมายความว่านักเศรษฐศาสตร์เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในสถานะอ่อนแอ นอกจากนี้ค่าดัชนีฯ ในระดับดังกล่าวยังเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเชื่อมั่นในด้านการส่งออกสินค้า, การลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ลดลงเป็นสำคัญ
ทั้งนี้การปรับตัวลดลงดังกล่าวได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 54 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ การส่งออกสินค้า และการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ในช่วงเดือน ม.ค.55 มีการประกาศเตือนภัยก่อการร้ายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอีกต่อหนึ่ง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 63.41 และเมื่อมองออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก็ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 72.19 ซึ่งค่าดัชนีฯ ที่ระดับดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 หมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน
โดยปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญใน 3-6 เดือนข้างหน้า คือ อันดับแรก คือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ อันดับสอง การบริโภคภาคเอกชน อันดับสาม การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อันดับสี่ การลงทุนภาคเอกชน ส่วนการส่งออกนั้นแม้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ถือเป็นปัจจัยที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นๆ อีก 4 ปัจจัย
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีปัจจัยขับเคลื่อนใดที่ทำให้มองว่าจะเป็นตัวทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ลง
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 32 แห่ง จำนวน 72 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 17-24 ม.ค.55