นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุว่า ได้เตรียม 5 แนวทางไว้ที่จะหารือร่วมกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงเย็นวันนี้ ถึงกรณีการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนรายละเอียดของทั้ง 5 แนวทางคงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้
"ตนเองยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ เป็นความลับระหว่างผู้ว่าฯ ธปท.กับ รมว.คลัง"นายกิตติรัตน์ กล่าว
ส่วนที่มีการรายงานข่าวว่าจะมีการเสนอให้ธนาคารพาณิชย์เลือกวิธีการจัดส่งค่าธรรมเนียมเพื่อนำไปใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ใน 2 แนวทางนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ตนมีทั้งหมด 5 แนวทาง มากกว่าที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าว
"หนังสือพิมพ์ มีแค่ 2 แนวทาง แต่ผมมีตั้ง 5 แนวทาง"รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่าจะมีการเสนอให้ธนาคารพาณิชย์เลือกวิธีการจัดส่งค่าธรรมเนียมเพื่อนำไปใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ใน 2 แนวทาง คือ 1.เก็บเงินนำส่งอัตราเดียวตลอดการชำระหนี้ หรือ 2.เก็บแบบขั้นบันได คาดเริ่มจ่ายได้ในเดือนส.ค.ปีนี้
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ขอให้มีการปรึกษาหารือร่วมกันก่อน ส่วนผลจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับข้อมูล
ส่วนควรจะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากกับธนาคารของรัฐหรือไม่นั้น ตนเองพร้อมที่จะแก้ไข สิ่งที่เกิดความลักลั่น ระหว่างธนาคารัฐ กับธนาคารพาณิชย์ แต่มีประเด็นที่น่าสนใจ สิ่งที่มองว่าเกิดความลักลั่นได้เกิดขึนมานานแล้ว แต่กลับเพิ่งมาเรียกร้องว่าไม่เป็นธรรม แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมีปัญหาก็จะพยายามแก้ไขให้ดีขึ้น
ส่วนการที่ฝ่ายค้านได้มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับถือเป็นสิทธิที่ทำได้ตามกระบวนการ ซึ่งตนเองพร้อมที่จะชี้แจง และรัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำงานอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหา และมองว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วม ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน
สำหรับเงินกู้ซอฟท์โลนจาก ธปท.ปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงิน 3 แสนล้านบาทนั้น จะเป็นการจัดวงเงินซอฟท์โลนจาก ธปท. วงเงิน 2.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 70% เพื่อสมทบกับเงินทุนของสถาบันการเงิน 30% เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี
"ในหลักการควรจะคิดดอกเบี้ย ในสถาบันการเงินทุกแห่ง ในอัตราดอกเบี้ย 3% แต่มองว่าจะไม่ให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์ แต่จะให้กู้แก่รายใหม่เท่านั้น"นายกิตติรัตน์ กล่าว
สำหรับซอฟท์โลนดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้พิจารณาว่า ธนาคารแห่งใดมีศักยภาพที่จะใช้วงเงินซอฟท์โลน
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย(KTB) กล่าวว่า ธนาคารเห็นด้วยกับแนวทางที่จะเก็บเงินค่าธรรมเนียม 0.4% เพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองทุนฟื้นฟู เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบการเงิน แต่มองว่า หากจัดเก็บในอัตราที่มากขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ ที่จะทำให้ NIM ลดลง และจะกระทบต่อการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งต้องพิจารณาถึงฐานะของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงระบบการเงินของประเทศ ส่วนผลสรุปการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต้องรอการหารือของรองนายกฯ กับผู้ว่าธปท.