(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย ม.ค. CPI โต 3.38%, Core CPI โต 2.75%, Q1/55 คาด 3.65-3.75%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 1, 2012 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือน ม.ค.55 อยู่ที่ 113.21 เพิ่มขึ้น 3.38% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.39% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.54 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัวลงตามภาวะการฟื้นตัวของประเทศที่อยู่ในช่วงเยียวยาหลังประสบสถานการณ์อุทกภัยอย่างรุนแรง

"เงินเฟ้อกลับมาปรับตัวเป็นปกติหลังจากเกิดปัญหาอุทกภัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคง รวมถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศไทย" นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือน ม.ค.54 อยู่ที่ 107.26 เพิ่มขึ้น 2.75% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.26% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.54

ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 135.48 เพิ่มขึ้น 7.70% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.21% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.54 ส่วนดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 100.34 เพิ่มขึ้น 0.73% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.79% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.54

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.55 ปรับตัวสูงขึ้น 0.39% จากเดือน ธ.ค.54 นั้นมาจากราคาสินค้าสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะหมวดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคาขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนมีสาเหตุมาจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้น 7.70% โดยสินค้าในหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปรับตัวสูงขึ้น 2.34% เนื้อสัตว์สูงขึ้น 10.52% ไขและผลิตภัณฑ์นมสูงขึ้น 2.30% ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้น 0.73% ได้แก่ หมวดเคหสถานสูงขึ้น 2.20% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 1.08% หมวดเครื่องนุ่มห่มและรองเท้าสูงขึ้น 0.75%

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปี 55 จะอยู่ในกรอบระหว่าง 3.65-3.75% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ในกรอบระหว่าง 3.30-3.80% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 95-115 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29-33 บาท/ดอลลาร์ รัฐบาลยังคงมาตรการลดค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงปีนี้ที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ความผันผวนจากเศรษฐกิจและการเมืองโลก ปัญหาภัยธรรมชาติ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลง

ส่วนกรณีที่รัฐบาลอนุมัติให้มีการปรับฐานเงินเดือนขั้นต่ำให้กับข้าราชการที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในระดับที่ต่ำมากเพียง 0.01-0.02% ต่อปีเท่านั้น ขณะที่การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทนั้นจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อไม่ถึง 0.1% เนื่องจากไม่ได้มีการปรับขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในเดือน ม.ค.55 ยังเป็นไปตามเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในกรอบ 0.5-3.0%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ