Analysis: จับตา "เฟซบุ๊ก" ออกหุ้น IPO เป็นความ โชคดี หรือ โชคร้าย

ข่าวต่างประเทศ Thursday February 2, 2012 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"เฟซบุ๊ก" ยักษ์ใหญ่เครือข่ายสังคมออนไลน์ ยื่นข้อมูลการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) เมื่อวันพุธตามเวลาสหรัฐ โดยตั้งเป้าระดมทุนให้ได้ 5 พันล้านดอลลาร์

เฟซบุ๊กตั้งใจที่จะยื่นแบบแสดงรายการเสนอขายหุ้น IPO ให้ตรงกับวันครบรอบ 8 ปีของบริษัท เพื่อปูทางสู่การขายหุ้น IPO อย่างเป็นทางการในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งเป็นที่คาดการณ์กันว่าจะเป็นการขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดในซิลิคอน วัลเลย์

ข้อมูลจากแบบแสดงรายการที่เฟซบุ๊กยื่นต่อ SEC ระบุว่า ปัจจุบันเฟซบุ๊กมีจำนวนผู้ใช้งานทั้งสิ้น 845 ล้านคน และมีจำนวนผู้ใช้งานประจำวัน 483 ล้านคน ส่วนรายได้ต่อปีของบริษัทอยู่ที่ 3.7 พันล้านดอลลาร์, รายได้จากการดำเนินงาน 1.8 พันล้านดอลลาร์ และรายได้สุทธิ 1 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์หลายคนในแวดวงอุตสาหกรรมกำลังถกเถียงกันว่า การออกหุ้น IPO ของเฟซบุ๊กเป็น "โชคดี" หรือ "โชคร้าย" กันแน่

*ปรากฎการณ์ที่ต้องแลกด้วยขวากหนาม

ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ และเป็นที่ปรึกษาของเชอรีล แซนด์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ของเฟซบุ๊ก ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ว่า "การออกหุ้น IPO ของเฟซบุ๊กถือเป็น 'ปรากฎการณ์ของสหรัฐอเมริกา' ซึ่งเฟซบุ๊กกำลังเผยให้เห็นถึงศักยภาพด้านใหม่ และสร้างการเชื่อต่อแบบใหม่ อย่างเดียวกับที่ฟอร์ด มอเตอร์ ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ เคยทำมาแล้ว"

สำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว หุ้น IPO ของเฟซบุ๊กถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนและพนักงานของบริษัทได้ทำเงินบ้าง และจะสร้างเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ในซิลิคอน วัลเลย์ เพราะตั้งแต่นายหน้าค้ารถยนต์ไปจนถึงตัวแทนจำหน่ายนาฬิการะดับหรู, ตั้งแต่นายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงที่ปรึกษาด้านการเงิน ต่างก็ตั้งตารอซื้อหุ้นเฟซบุ๊ก หลังจากที่เครือข่ายสังคมออนไลน์รายที่เล็กกว่า อย่างลิงค์อิน (LinkIn) ได้นำร่องออกหุ้น IPO ไปก่อนหน้านี้ และช่วยให้คนหลากอาชีพเหล่านี้สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ

อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า แม้เฟซบุ๊กพยายามยกเครื่องระบบเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล, ขับเคลื่อนธุรกิจหลักๆ และการลดกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเฟซบุ๊กจะสามารถทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นไปได้นานแค่ไหน

จนถึงขณะนี้ ผู้ลงโฆษณาบางส่วนยังไม่มั่นใจที่จะลงโฆษณาบนเฟซบุ๊ก เนื่องจากรายงานของบริษัท ทีบีจี ดิจิตอล ซึ่งเป็นผู้ทำการตลาดให้เฟซบุ๊ก ระบุว่า แม้ธุรกิจโฆษณาของเฟซบุ๊กเติบโตได้ดีในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว แต่จำนวนผู้ที่คลิกดูโฆษณายังต่ำมาก นอกจากนั้นเฟซบุ๊กยังต้องพึ่งพาโฆษณาเกมต่างๆเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าเฟซบุ๊กอาจสูญเสียรายได้มหาศาล หากบริษัทเกมเหล่านั้นตัดสินใจไม่ลงโฆษณากับเฟซบุ๊ก

*อุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า

Reformed Broker ซึ่งเป็นบล็อกเกี่ยวกับเศรษฐกิจและตลาดการเงิน กล่าวว่า การออกหุ้น IPO อาจเป็น "โชคร้าย" สำหรับเฟซบุ๊ก เนื่องจากผู้ใช้งานเริ่มเบื่อเฟซบุ๊กและเกมต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ หลังเปิดให้บริการมานาน 8 ปี ขณะเดียวกัน Uncrunched ซึ่งเป็นบล็อกด้านเทคโนโลยี กล่าวว่า คนจำนวนมากเริ่มไม่อยากเข้าไปเล่นเฟซบุ๊กเพราะมีจำนวนผู้ใช้เยอะเกินไป

นอกจากนั้นเฟซบุ๊กยังมีปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัว และเฟซบุ๊กจะถูกกดดันมากขึ้นแน่นอนหลังการออกหุ้น IPO และแม้ว่าเฟซบุ๊กประกาศว่าทางบริษัทสามารถยุติคดีความกับคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐ (FTC) ในเรื่องการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เฟซบุ๊กจะเผชิญกับกฎระเบียบด้านความเป็นส่วนตัวที่เข้มงวดมากขึ้น จากสหรัฐและประเทศในยุโรป

ผู้สังเกตการณ์บางส่วนกล่าวว่า การออกหุ้น IPO จะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่หรือจุดสูงสุดครั้งสุดท้ายของเฟซบุ๊กนั้น ก็ต้องรอดูกันต่อไป

อย่างไรก็ดี การออกหุ้น IPO ในช่วงที่มีการลงทุนอย่างคึกคักในธุรกิจสังคมออนไลน์เช่นนี้ ถือเป็น "โชคดี" ที่จะช่วยให้เฟซบุ๊กสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้อย่างมหาศาล

บทวิเคราะห์โดยสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ