(เพิ่มเติม) ธปท.ลดคาด GDP ปี 54 เหลือโตแค่ 1% ก่อนดีดตัว 4.9% ปี 55 และ 5.6% ปี 56

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 3, 2012 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปี 54 เหลือเติบโตแค่ 1% จากต้นปีที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 4.1% และชะลอลงมากจาก 7.8% ในปี 53 เนื่องจากผลกระทบของอุทกภัยที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4/54 หดตัวจากไตรมาส 3/54 ถึง 7.4% มากที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อเทียบกับวิกฤติซัพไพร์ม และวิกฤติการเงินเอเชียในปี 40

ขณะที่คาดว่าจีดีพีในปี 55 จะเติบโตได้ถึง 4.9% จากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ และการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมใหญ่ ที่คาดว่าจะทำให้ภาวะต่าง ๆ เริ่มเข้าสู่ปกติในไตรมาส 3/55 และจากนั้นปี 56 จีดีพีก็น่าจะเติบโตเป็นปกติในระดับ 5.6%

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.แถลงรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนมกราคม 2555 ว่า สถานการณ์อุทกภัยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทั้งผลทางตรงจากฐานการผลิตที่เสียหาย และทางอ้อมจากการขาดแคลนชิ้นส่วนและปัญหาการขนส่ง ประกอบกับ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่กระทบการส่งออกสินค้าของไทยมาก่อนแล้วระยะหนึ่ง

"เดิมมองว่าอุทกภัยจะกระทบจีดีพีแค่ 1% ก็จะทำให้ลดเหลือ 2.1% แต่จริง ๆ กระทบไปถึง 3.1% ถือว่ากระทบสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ และมีปัญหาซัพพลายเชนของญี่ปุ่นจากเหตุการณ์สึนามิในไตรมาสแรก และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปเป็นสำคัญ"นายไพบูลย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีดีพีไตรมาส 4/54 จะติดลบ แต่ก็เป็นการหดตัวของอุปทานแค่ไตรมาสเดียว ต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งก่อน ๆ ทั้งซัพไพร์ม และวิกฤติการเงินเอเชียในปี 40 ที่มีผลกระทบทำให้อุปสงค์หายไปหลายไตรมาส โดยปัญหาซัพไพร์มทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบถึง 3 ไตรมาสติดต่อกัน ขณะที่วิกฤติการเงินเอเชียในปี 40 ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัว 5 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ทำให้จีดีพีไทยติดลบสูงสุด 5.1% เมื่อเทียบรายไตรมาส

*ศก.ไทยฟื้นกลับสู่ภาวะปกติใน Q3/55 ดัน GDP ทั้งปีโต 4.9%

นายไพบูลย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจในปี 55 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นปกติในไตรมาส 3/55 แรงขับเคลื่อนหลักมาจากอุปสงค์ภาครัฐและเอกชน และได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วม และความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวดีขึ้น โดยความเชื่อมั่นภาคเอกชนในเดือน ธ.ค.54 กลับมาเหนือ 50 คือระดับที่มีความมั่นใจ ขณะที่การบริโภคก็เห็นการเร่งตัวในไตรมาสแรกปีนี้ไปแล้ว จากนี้ไปจะมีแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้นอีก

ขณะที่การส่งออกจะกลับมาปกติตามภาคการผลิต ซึ่งขณะนี้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศใน 3 เดือนข้างหน้าแล้ว แต่ยังผลิตไม่ได้ โดยรวมมองว่าการส่งออกจะเติบโตชะลอลงจากปี 54 ที่คาดว่าจะเติบโต 16% เหลือเติบโต 7.8% ในปีนี้ ประกอบกับ จะมีเม็ดเงินที่รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุล 4 แสนล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เข้ามาสนับสนุน

ส่วนความเสี่ยงของเศรษฐกิจในปี 55 คือเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญคือแนวทางการแก้ไขปัญาหนี้ของยุโรป ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนในประเทศ คือแนวนโยบายของภาครัฐในการบริหารจัดการน้ำ จะสามารถฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชนให้กลับมาผลิตและลงทุนได้เร็วแค่ไหน

"ปัจจัยเศรษฐกิจในและนอกประเทศที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยมีผลกระทบค่อนข้างมากพอ ๆ กัน โดยแบงก์ชาติมองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3% ในปีนี้ และเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญจะขยายตัว 4.8% เศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งออกของไทยยังขยายตัวแม้ว่าจะชะลอตัวจากปี 54 ดังนั้นเมื่อเทียบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกก็ถือว่าไทยยังขยายตัวได้ดี แรงส่งสำคัญ ๆ มาจากในประเทศ เพราะเศรษฐกิจต่างประเทศยังชะลอตัว ซึ่งพอรับได้"นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในนี้ แรงกดดันการเร่งตัวแผ่วลงเมื่อเทียบกับปีก่อน และมีแนวโน้มลดลงสู่ระดับปกติในปี 56 โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานความเสี่ยงด้านบวกมีมากกว่าด้านลบ เพราะแรงกดดันด้านอุปสงค์ลดลงาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้ากว่าที่คาดไว้ ต้นทุนการผลิตลดลงตามราคาโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันดิบโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานถือเป็นระดับที่มีเสถียรภาพ และความเสี่ยงด้านลบและด้านบวกสมดุลกัน

"แบงก์ชาติใช้สมมติฐานจีดีพีและเงินเฟ้อที่พิจารณาว่าอัตราดอกเบี้ย 3% เหมาะสมกับเศรษฐกิจเท่าที่มีข้อมูล ณ ตอนนี้ แบงก์ชาติพร้อมจะดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในระยะต่อไป"นายไพบูลย์ กล่าว

และภาวะเศรษฐกิจในปี 56 นั้น ธปท.มองว่าเศรษฐกิจหลักที่ฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3/55 จะกลายเป็นแรงส่งให้การผลิตกลับมาและต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ประกอบกับเศรษฐกิจโลกในครึ่งหลังของปีนี้จะฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้อุปสงค์ด้านคำสั่งซื้อปรับตัวดีขึ้น และหนุนการเติบของการส่งออกของไทยมากขึ้น ประกอบกับ มาตรการภาครัฐเข้ามากระตุ้น ธปท.จึงมองว่าจีดีพีปีหน้าน่าจะเติบโตได้ถึง 5.6%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ