ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดราคาน้ำมันปาล์มดิบปี 55 ปรับลงต่ำกว่าปีก่อนสวนทางปริมาณผลผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 3, 2012 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงสถานการณ์น้ำมันปาล์มในช่วงต้นปี 2555 ว่า ปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนตัน ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณสต็อกที่สูงที่สุดในประวัติการณ์และมีปริมาณสต็อกมากกว่าระดับที่เหมาะสมถึง 1 แสนตัน หลังจากการผลิตปาล์มน้ำมันเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2554 โดยปริมาณผลผลิตปาล์มที่ออกสู่ตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2555 ตามการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มในปี 2555 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 (YoY) ในขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในปี 2555 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 (YoY) จากมาตรการบังคับใช้ไบโอ ดีเซล B5 ทั่วประเทศที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนก.ย.54 ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในอุตสาหกรรมอาหารและภาคการผลิตอื่นๆ จะมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย (โดยเฉลี่ยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี) ทั้งนี้ จากปริมาณผลผลิตในปี 2555 ที่ยังคงอยู่ในระดับที่มากกว่าปริมาณการใช้ในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่า 3 แสนตัน ณ ช่วงสิ้นปี 2555

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ระดับราคาราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศปี 2555 จะปรับลดลงต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในปี 2554 ที่ขึ้นไปอยู่ที่ 36.6 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ หากภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมกันบริหารจัดการปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และปริมาณผลผลิตไม่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า มาจากปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศและในตลาดโลก

โดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ คาดว่าปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบในปี 2555 จะมีปริมาณสูงกว่าความต้องการใช้ และปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มในตลาดโลกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันให้ระดับราคายังคงไม่ปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศปี 2555 ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจผลักดันให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้แก่ สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน การปรับลดพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลือง ของประเทศสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ เดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ มีแผนปรับพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น

ขณะที่ การปลูกถั่วเหลืองในจีนยังต้องเผชิญกับปัญหาโรคถั่วเหลือง ทำให้เกษตรบางส่วนปรับพื้นที่เพื่อปลูกพืชชนิดอื่น ส่งผลให้ผลผลิตถั่วเหลืองในตลาดโลกในปี 2555 มีปริมาณเท่ากับ 259.22 ตัน ลดลงจาก 264.18 ล้านตัน ในปี 2554 โดยปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองที่ลดลงจะส่งผลให้ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น และความต้องการน้ำมันปาล์มเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันถั่วเหลืองอาจมีเพิ่มมากขึ้น

อีกทั้งราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาทางการเมืองที่สำคัญ คือกรณีสหรัฐและยุโรปมีมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่หนุนให้การใช้พลังงานทดแทน และความต้องการน้ำมันปาล์มเพื่อนำไปผลิตพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น จนอาจเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การรักษาสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตและความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแนวทางในระยะสั้น ภาคเอกชนควรเร่งหาช่องทางในการระบายสต็อกน้ำมันปาล์มดิบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งมี 2 วิธี คือ การเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศ และ การส่งออก แต่การส่งออกก็ควรมีปริมาณการส่งออกควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม และควรคำนึงถึงความเพียงพอสำหรับการใช้งานในประเทศเป็นหลัก

สำหรับทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศในอนาคต ภาครัฐยังคงที่จะผลักดันให้ขยายการผลิตปาล์มน้ำมันและการใช้เพื่อผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาคเอกชนจึงควรเร่งผลักดันในการพัฒนาคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซล และเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไบโอดีเซลอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเร่งผลักดันให้น้ำมันไบโอดีเซลที่มีการเพิ่มส่วนผสมของไบโอดีเซล บี 100 สามารถผลิตและจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์ทั่วประเทศ ทั้งนี้ จากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลในประเทศ ณ ปัจจุบัน หากมีการปรับเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล บี100 ลงในน้ำมันดีเซลร้อยละ 1 จะต้องใช้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบในตลาดเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 60,000 ตัน ดังนั้นสำหรับปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบในปี 2555 หากเป็นไปตามที่กระทรวงเกษตรฯ คาดการณ์ว่าจะผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 1.9 ล้านตัน จะส่งผลให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบมีปริมาณสต็อกส่วนเกินประมาณ 2 แสนตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอในการปรับสูตรไบโอดีเซลขั้นต่ำ สามารถปรับจาก บี5 เป็น บี8 ได้

นอกจากนี้ เร่งปรับปรุงคุณภาพในการผลิตพลังงานทางเลือก เพื่อให้สามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูงและมีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น พัฒนาคุณสมบัติในการนำไปใช้งาน โดยนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดสร้างความเสียหายให้แก่เครื่องยนต์ที่ใช้แล้ว อาจช่วยในการยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ รวมไปถึงการพัฒนาน้ำมันชีวภาพให้สามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์ของยานพาหนะประเภทอื่นๆ เช่น เครื่องบิน และรถไฟ ทั้งนี้ การพัฒนาคุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซล เพื่อรองรับกับแนวโน้มการใช้งานที่มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นในอนาคตตามกระแสที่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งกฏระเบียบทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ