ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า เทศกาลวันวาเลนไทน์ปีนี้จะมีเงินสะพัดเกือบ 2.8 พันล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย แต่ยังไม่ใช่สัญญาณที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นการใช้จ่ายเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น คงต้องรอดูสถานการณ์จนถึงเดือน มิ.ย.55
"สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1-2 ยังไม่ค่อยดี ประชาชนส่วนใหญ่ยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพที่ยังมีความรู้สึกว่ารายรับไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าและอาหาร รวมทั้งกังวลกับการขึ้นราคาพลังงาน รัฐบาลจะต้องดูแลราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม โดยปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคือการเดินเครื่องผลิตสินค้าที่จะเริ่มได้เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ทำให้การส่งออกและการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น และ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับดำเนินการได้ คาดว่า เศรษฐกิจจะมีสัญญาณฟื้นตัวได้ชัดเจนในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป"นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าว
ขณะที่ผลสำรวจถึงทัศนคติ พฤติกรรม และการใช้จ่ายช่วงวันวาเลนไทน์ปี 55 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,206 ตัวอย่างทั่วประเทศในทุกกลุ่มอายุ พบว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายรวม 2,791.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการใช้จ่ายรวม 2,655.43 ล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 1,348.85 บาท จากปีก่อนที่เฉลี่ยต่อคนละ 1,288.88 บาท
"การจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันวาเลนไทน์ปีนี้แม้จะคึกคักขึ้นเล็กน้อยจากมูลค่าการใช้จ่ายที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.13% แต่ถือเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่มีการสำรวจมา และไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยภาพรวม เพราะเป็นเทศกาลเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น การจับจ่ายใช้สอยจึงกระจุกตัวที่กลุ่มวัยรุ่นที่ไม่มีความกังวลในเรื่องผลกระทบจากน้ำท่วม จึงไม่มีความระมัดระวังในการใช้จ่าย ต่างจากเทศกาลตรุษจีน"นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนทัศนคติเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในวันวาเลนไทน์นั้นพบว่ามีคนรู้จักที่มีไม่ใช่สามีภรรยากันวางแผนจะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในวันวาเลนไทน์ถึง 15.2% และอีก 20.6% ระบุว่าไม่แน่ใจ โดยคู่รักที่จะมีการฉลองวันวาเลนไทน์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 54.9% เป็นกลุ่มนักศึกษา อีก 27.8% เป็นกลุ่มนักเรียน และ 17.3% เป็นวัยทำงาน
โดยสถานที่ที่วัยรุ่นอาจมีการฉลองวันวาเลนไทน์โดยการมีเพศสัมพันธ์นั้น กลุ่มตัวอย่าง 32.7% ระบุว่าเป็นห้องพักรายวัน ส่วนอีก 27.5% อพาร์ทเมนต์ 23.4% ระบุบ้านที่ไม่มีใครอยู่ ขณะที่ 13.8% ระบุโรงแรมม่านรูด และ 2.3% สวนสาธารณะ