นางนีลี โครเอส สมาชิกคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ De Volkskrant ของเนเธอร์แลนด์ว่า หากกรีซจำต้องออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มยูโรโซนก็จะไม่ได้ส่งผลร้ายแรงถึงขั้นต้องยุบกลุ่มสกุลเงินดังกล่าวนี้แต่อย่างใด
“มีการพูดกันอยู่เสมอว่า หากปล่อยให้ชาติหนึ่งถอนตัว หรือขอร้องให้ชาติใดออกจากกลุ่มไป โครงสร้างทั้งหมดจะพังทลาย แต่นั่นไม่จริงเลย"
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาลได้หารือครั้งสำคัญเป็นครั้งแรกในประเด็นมาตรการรัดเข็มขัดและการปฏิรูปการคลัง ก่อนที่การหารือรอบ 2 ระหว่างนายลูคัส ปาปาเดมอส นายกรัฐมนตรี กับบรรดาหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลกรีซ จะเลื่อนมาเป็นวันนี้ เพื่อรอนายกฯกรีซเสร็จสิ้นการเจรจาร่วมกับฝ่ายตรวจสอบหนี้สินของสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
สำหรับผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลนั้นได้มีมติเห็นชอบมาตรการหั่นลดงบประมาณลงอีก 1.5% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือคิดเป็นเงิน 3.3 พันล้านยูโร พร้อมกับหั่นลดค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนที่เป็นเงินค่าจ้างและส่วนอื่นๆ และเพิ่มทุนให้กับธนาคารด้วย แต่ยังต้องมีการหารือในรายละเอียด
ทั้งนี้ กรีซได้เผชิญแรงกดดันจากผู้นำในยุโรปเกี่ยวกับการจัดการปัญหาหนี้สินที่เรื้อรัง โดยนายนิโคลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลกรีซ "แสดงความรับผิดชอบ" และเร่งสรุปการเจรจาเกี่ยวกับการรับความช่วยเหลือรอบที่ 2
นายซาร์โกซีกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนร่วมกับนางแมร์เคลว่า ผู้นำของกรีซจะต้องแสดงความรับผิดชอบ และการจะรับเงินช่วยเหลือรอบใหม่ได้นั้น กรีซจะต้องปรับลดหนี้สินลงให้ได้เสียก่อน
เมื่อวานนี้ สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือ ยูโรสแตท เปิดเผยว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะของกรีซพุ่งขึ้นสู่ระดับ 159.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2554 เพิ่มขึ้นจากระดับ 154.7% ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในกลุ่มยูโรโซน และสะท้อนให้เห็นว่ากรีซยังคงเผชิญกับภาระหนี้สินมูลค่ามหาศาล แม้รัฐบาลพยายามลดการใช้จ่ายลงจำนวนมากก็ตาม
ทางด้านสหภาพแรงงานภาคเอกชนของกรีซได้เริ่มการผละงานในวันนี้ เพื่อประท้วงการรัดเข็มขัดและการปฏิรูปตามข้อกำหนดของกลุ่มผู้ปล่อยกู้ระหว่างประเทศเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่สำหรับกรีซ