ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนในปี 2555 ว่า นักลงทุนยังคงให้ความสนใจ และเชื่อมั่นศักยภาพการเป็นประเทศรองรับการลงทุนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานสถานการณ์ลงทุนในเดือนม.ค.55 พบว่ามีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยแล้ว 112 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.74% มูลค่าเงินลงทุนรวม 78,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 26,300 ล้านบาท
โดยกิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุด อันดับแรก คือกลุ่มเคมี กระดาษ และพลาสติก จำนวน 25 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 47,700 ล้านบาท รองมา คือ กิจการบริการและสาธารณูปโภค 25 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 13,200 ล้านบาท และอันดับสามกิจการอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า 22 โครงการ เงินลงทุน 5,300 ล้านบาท
"แม้ในช่วงปลายปี 54 ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาจากอุทกภัยน้ำท่วม แต่ในภาพรวมนักลงทุนยังคงเชื่อมั่นต่อศักยภาพ และแผนบริหารจัดการปัญหาน้ำของรัฐบาลที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังยืนยันที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนและขยายกิจการในอนาคต รวมถึงเพื่อรองรับการขยายตลาดภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 นี้ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางทางด้านการค้าและการลงทุนในได้สูงสุดในภูมิภาค" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นและจูงใจนักลงทุนในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง ในปี 55 นี้ จึงมอบนโยบายให้บีโอไอเร่งเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นทั้งในส่วนของนักลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น ทั้งกิจกรรมในรูปแบบการอบรม สัมมนา การพบปะผู้ประกอบการโดยตรง รวมถึงการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงจับคู่ธุรกิจ เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทย
ขณะเดียวกันเร่งจัดกิจกรรมโรดโชว์ในประเทศต่างๆ ที่มีศักยภาพ และเป็นเป้าหมายการดึงดูดการลงทุนของไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามแผนในปี 55 นี้ บีโอไอกำหนดจะจัดให้มีกิจกรรมในรูปแบบของการจัดคณะโรดโชว์ไปยังประเทศเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 115 คณะ สำหรับประเทศเป้าหมายของโรดโชว์ในปี 55 เช่น ญี่ปุ่น มีอุตสาหกรรมเป้าหมายในการชักจูงการลงทุน คือ ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, แปรรูปเกษตร และอาหารพลังงานทดแทน บริการเครื่องจักรและอุปกรณ์
สหรัฐอเมริกา มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อิเล็กทรอนิกส์, ไบโอเทคโนโลยี, อุตสาหกรรมอากาศยาน, ซอฟต์แวร์, อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์, เยอรมนี กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมีภัณฑ์ พลังงานและส่งเวดล้อม วิจัยและพัฒนา, ประเทศอังกฤษ อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ชิ้นส่วนโลหะ วิจัยและพัฒนา ไบโอเทคโนโลยี เป็นต้น
นอกจากนี้ยังจะเร่งจัดให้มีกิจกรรมทั้งในรูปแบบของการชักจูงการลงทุน และกระตุ้นให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในประเทศนั้นๆ เพื่อขยายตลาดการค้าและการลงทุน รวมถึงลดต้นทุนการผลิต เช่น ประเทศจีน ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพเข้าไปลงทุนในด้านอุตสาหกรรมบริการ เกษตรแปรรูปและอาการ, ประเทศอินเดีย นักลงทุนไทยสามารถเข้าไปลงทุนได้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เกษตรและเกษตรแปรรูป ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น