"กิตติรัตน์"เผยงบปี 56 จัดทำบนคาดการณ์จีดีพีโตสูงกว่า 8% เงินเฟ้อ 3-4%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 9, 2012 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เผยการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 56 หน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) ปี 56 ไว้ที่ 8-8.5% ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คาดการณ์ไว้ที่ 8.4% ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) คาดการณ์ไว้ที่ 8% เพื่อนำมาเป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งแต่ละหน่วยงานที่มีการประเมินนั้นยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3-4%

สำหรับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 55 ภายหลังน้ำลด หน่วยงานต่างๆ ยังประเมินแตกต่างกันอยู่บ้าง โดย สศค.และ สศช. มีความเห็นว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในช่วงปลายไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 ส่วน ธปท.คาดว่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3/55

ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานมีความเห็นร่วมกันที่จะจัดทำงบประมาณปี 56 ให้ขาดดุลน้อยกว่าปี 55 ซึ่งตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ที่ 4 แสนล้านบาท โดยที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลที่ลดลงเหลือ 20% และการพิจารณาว่าจะกลับมาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันหรือไม่

"รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำให้ราคาพลังงานเป็นไปตามกลไกตลาด โดยปัจจุบันการอุดหนุนราคาน้ำมันทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำหน้าที่ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งในการดำเนินการแก้ไขต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่จะทำให้กองทุนน้ำมันสามารถทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันได้แทนที่จะทำหน้าที่ในการอุดหนุนราคาก๊าซอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" นายกิตติรัตน์ กล่าว

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละปีนอกจากงบประมาณซึ่งถือว่าเป็นกลไกทางด้านนโยบายการคลังจะต้องพิจารณาอีก 3 ปัจจัย ได้แก่ การส่งออกซึ่งรัฐได้ประมาณการรายได้จากการส่งออกปี 56 จะเติบโตที่ 15% การลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งในที่ประชุมได้กำชับผู้ว่าการ ธปท.ว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจะมีผลต่อการลงทุนของภาคเอกชน เพราะหากกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำจะไปกระตุ้นการลงทุนให้สูงขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลสามารถเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันอุทกภัยได้ตามแผนงานที่วางไว้ก็จะสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ

ทั้งนี้ ตนเองได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ไปจัดทำกรอบและรายละเอียดของงบประมาณรายรับรายจ่าย การขาดดุลแล้วนำกลับมาเสนอในที่ประชุมอีกครั้งประมาณ 1 สัปดาห์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ