นายโอฬาร พิทักษ์ รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการติดตาม กำกับ ดูแล และแก้ไขปัญหาการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 จะสิ้นสุดลง ในวันที่ 29 ก.พ.นี้ (ยกเว้นภาคใต้) ผลการดำเนินงานในส่วนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบทั้งการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การทำประชาคม และการออกใบรับรอง ขณะนี้มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น จำนวน 3.56 ล้านครัวเรือน ผ่านการทำประชาคมแล้ว จำนวน 3.47 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.46 ของผู้ขึ้นทะเบียน โดยเกษตรอำเภอได้ทำการออกใบรับรองให้กับเกษตรกรแล้ว จำนวน 3.44 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.23 ของผู้ผ่านประชาคม เกษตรกรมารับใบรับรองแล้ว จำนวน 1.97 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 57.27 ของการออกใบรับรอง
นายโอฬาร กล่าวอีกว่า ยังมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ซึ่งผลดำเนินการในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1)สหกรณ์ที่เป็นจุดรับจำนำ จำนวน 29 สหกรณ์ มีปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำแล้ว จำนวน 63,754 ตัน
2)สหกรณ์ที่เป็นจุดให้บริการรับจำนำนอกพื้นที่ของโรงสีเอกชน จำนวน 94 สหกรณ์ มีปริมาณข้าวเปลือกที่ให้บริการ จำนวน 0.67 ล้านตัน และ 3)สหกรณ์ที่เป็นจุดให้บริการรวบรวมขนส่งข้าวเปลือกของเกษตรกรไปยังจุดรับจำนำ จำนวน 66 สหกรณ์ มีปริมาณข้าวเปลือกที่ให้บริการ จำนวน 0.32 ล้านตัน ทั้งนี้ สหกรณ์ที่เป็นจุดให้บริการจะมีรายได้รวมประมาณ 777 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ซึ่งมีจุดรับจำนำ จำนวน 252 จุด ใน 38 จังหวัด ยอดข้าวเปลือกที่รับจำนำแล้ว รวมทั้งสิ้น 1.68 ล้านตัน คิดเป็นเงินรวม 29,635 ล้านบาท
"กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ คณะกรรมการติดตาม กำกับฯ ของกระทรวงเกษตรฯ จึงมีการออกติดตามและมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องตลอดโครงการมากว่า 14 ครั้งแล้ว และจะดำเนินงานในส่วนที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการตามที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งขณะนี้ผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงกำหนด โดยในส่วนที่เป็นปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวกับกระทรวงเกษตรฯ โดยตรงมีบ้างเพียงเล็กน้อย ส่วนปัญหาการดำเนินการตามโครงการฯ โดยรวมยังมีปัญหาอยู่บ้าง ที่สำคัญ คือ ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติบางจุดยังขาดความชัดเจน จึงทำให้เกิดความสับสนและเกษตรกรเข้าใจผิดได้ ซึ่งจะได้นำข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากการติดตามการทำงานในระดับพื้นที่มารวบรวมจัดทำเป็นรูปเล่ม เพื่อเป็นองค์ความรู้และข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุง และหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสำหรับเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังในระยะต่อไป" นายโอฬาร กล่าว