นายบุญไทย แก้วขันตี ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ก.พ.55 ให้ขยายเวลาในการแสดงความประสงค์เพื่อขอเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ปี 2554 ให้แก่เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาทไปสิ้นสุดโครงการในวันที่ 15 เม.ย.นี้ เนื่องจากยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมาก ยังไม่มาแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการหรือยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกจำนวน 181,545 ราย จำนวนเงิน 22,632 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. จะเร่งสอบถามความสมัครใจและดำเนินตามนโยบายให้แล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.55
โครงการดังกล่าวเป็นการพักชำระหนี้ในกลุ่มลูกค้าที่มีปัญหาหนี้สินค้างชำระ หรือหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.54-15 ก.พ.55 ในส่วนของ ธ.ก.ส. มีเกษตรกรลูกค้าที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 639,589 ราย จำนวนเงิน 77,753 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าวปรากฏว่ามีเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการของรัฐไปแล้ว เช่น โครงการพักชำระหนี้น้ำท่วมปี 53 กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไทย (กฟก.) โครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) โครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) จำนวน 72,253 ราย จำนวนเงิน 7,115 ล้านบาท คงเหลือเกษตรกรที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ปี 54 เพียงจำนวน 567,331 ราย จำนวนเงิน 70,638 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการดังกล่าว มีบางส่วนที่ประสบอุทกภัยและได้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้น้ำท่วมปี 54 ไปแล้วจำนวน 28,294 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 4,477 ล้านบาท ส่วนที่เหลือได้แจ้งความประสงค์ขอพักชำระหนี้ปี 54 จำนวน 314,585 ราย จำนวนเงิน 38,748 ล้านบาท และแจ้งความประสงค์ไม่เข้าร่วมโครงการ 42,907 ราย จำนวนเงิน 4,781 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการพักชำระหนี้แล้วทั้งสิ้น 342,879 ราย จำนวนเงิน 43,225 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 88.88 ของผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการ
ด้านการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะดำเนินการโดยผ่านชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรกรทฤษฎีใหม่ รวมถึงศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. รวมประมาณ 3,500 ศูนย์ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับกระบวนการผลิตของผู้เข้าร่วมโครงการให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำบัญชีครัวเรือน การลดค่าใช้จ่าย การพัฒนาอาชีพใหม่ๆ เพื่อเสริมรายได้ เป็นต้น โดยตั้งเป้าจะอบรมเกษตรกรพักหนี้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 1,119 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 55 — 31 มี.ค.58