วิจัยกสิกรฯ แนะผู้ส่งออกเร่งปรับตัวหลังอินเดียหวนส่งออกข้าวเบียดแย่งตลาดไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 14, 2012 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผู้ส่งออกข้าวของไทยต้องเร่งปรับตัวรับกับสภาพตลาดข้าวที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งอีกครั้งตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 หลังจากที่หยุดส่งออกไปถึง 3 ปี ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อตลาดส่งออกข้าวของโลก โดยประเทศผู้ซื้อข้าวหันไปซื้อข้าวจากอินเดีย เนื่องจากราคาข้าวส่งออกที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับทั้งไทยและเวียดนาม ส่วนประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญทั้งไทยและเวียดนามต้องมีการปรับราคาส่งออกเพื่อที่จะแข่งขันกับอินเดีย

สืบเนื่องจากอินเดียประสบปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวลดลงอย่างมาก ทำให้ต้องเก็บข้าวไว้เพื่อบริโภคในประเทศ จึงได้งดส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งในช่วงปี 2550-2553 แต่ยังคงส่งออกข้าวบัสมาติ แต่ทว่าในปีเพาะปลูก 2553/54 ผลผลิตข้าวของอินเดียเริ่มกระเตื้องขึ้น และปริมาณข้าวในสต็อกก็มีเพิ่มขึ้น ทำให้อินเดียเริ่มกลับมาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งอีกครั้ง โดยในช่วงปลายปี 2554 อินเดียกำหนดโควตาให้ส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่ง 2 ล้านตัน และในวันที่ 17 มกราคม 2555 อินเดียประกาศอนุมัติให้ส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งอีก 3-4 ล้านตัน

การกลับมาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งของอินเดียตั้งแต่ช่วงปลายปี 2554 ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2555 อินเดียจะเบียดแย่งตลาดข้าวจากไทย โดยเฉพาะข้าวนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกข้าวนึ่งของไทยมีสัดส่วนร้อยละ 27.2 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ประเทศที่นิยมบริโภคข้าวนึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะไนจีเรีย แอฟริกาใต้ เยเมน และเบนิน ประเทศในเอเชียใต้ โดยเฉพาะบังคลาเทศ และประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งการกลับมาส่งออกข้าวนึ่งของอินเดียก็กลับมาแย่งตลาดข้าวนึ่งเหล่านี้คืนไปจากไทย โดยประเทศเหล่านี้หันกลับไปซื้อข้าวนึ่งจากอินเดีย เนื่องจากราคาที่ต่ำกว่าไทยประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน

ผลกระทบต่อเนื่องจากการคาดการณ์ว่าอินเดียกลับมาแย่งส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวนึ่งของไทย ก็คือ ปริมาณการส่งออกข้าวนึ่งในปี 2555 ของไทยมีแนวโน้มลดลง และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อราคารับซื้อข้าวเปลือกหน้าโรงสีเพื่อนำมาผลิตข้าวนึ่งให้มีแนวโน้มลดลงด้วย เนื่องจากคาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการข้าวนึ่งในตลาดส่งออกมีแนวโน้มลดลง

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การปรับราคาส่งออกข้าวของเวียดนามตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว โดยในช่วงราคาขาขึ้น เวียดนามปรับเพิ่มราคาส่งออกจนกระทั่งราคาส่งออกข้าวสูงกว่าไทย แต่เมื่อเผชิญการแข่งขันกับอินเดีย เวียดนามปรับลดราคาส่งออกข้าวอย่างรวดเร็วและกลับมาอยู่ในระดับต่ำกว่าไทย

แนวทางการปรับตัวของผู้ส่งออกข้าวไทยแต่ละประเภท มีดังนี้ ผู้ส่งออกข้าวนึ่ง การส่งออกข้าวนึ่งของไทยครองตลาดโลก ในช่วงที่อินเดียงดส่งออก โดยมีคู่แข่งอย่างอุรุกวัยที่เข้ามาสร้างความผันผวนให้กับตลาดส่งออกในบางช่วง แต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะสั้นๆเท่านั้น แต่การกลับเข้ามาส่งออกข้าวนึ่งของอินเดีย ทำให้ตลาดข้าวนึ่งมีการแข่งขันอย่างรุนแรง เนื่องจากราคาข้าวนึ่งของอินเดียอยู่ในระดับต่ำกว่าไทย โดยในช่วงเดือนมกราคม 2555 ราคาข้าวนึ่งของอินเดียอยู่ในระดับ 470 ดอลลาร์/ตัน ในขณะที่ข้าวนึ่งไทยอยู่ในระดับ 529 ดอลลาร์/ตัน ส่งผลให้ประเทศผู้รับซื้อข้าวนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จำกัดอยู่เฉพาะในแอฟริกา และตะวันออกกลางหันไปซื้อข้าวนึ่งจากอินเดีย

ดังนั้น ผู้ส่งออกข้าวนึ่งของไทยคงต้องรอจังหวะการส่งออกข้าวนึ่งหลังจากผู้ส่งออกอินเดีย ซึ่งในช่วงที่ชะลอการผลิตข้าวนึ่ง ก็อาจปรับมาผลิตข้าวขาวทั้งเพื่อส่งออกและป้อนตลาดในประเทศไปก่อน หรือการเจาะขยายตลาดข้าวนึ่งในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งจัดว่าเป็นตลาดข้าวนึ่งตลาดบน หรือตลาดที่บริโภคข้าวนึ่งในฐานะที่เป็นข้าวเพื่อสุขภาพ แม้ว่าปัจจุบันตลาดยังมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับตลาดในแอฟริกาและตะวันออกกลาง แต่ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากมีแนวโน้มเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี

ผู้ส่งออกข้าวขาว กรณีผู้ส่งออกที่มีกิจการโรงสีด้วย ปัจจุบันผู้ส่งออกข้าวบางรายที่มีกิจการโรงสีด้วย เมื่อตลาดข้าวส่งออกหดตัว ก็เริ่มหันมาผลิตข้าวสารบรรจุถุงจำหน่ายในประเทศ ดังนั้น ในตลาดค้าปลีก ทั้งในร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านค้าปลีกดั้งเดิมจะมียี่ห้อข้าวสารบรรจุถุงใหม่ๆมาวางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสดีของผู้บริโภคในประเทศที่มีทางเลือกในการซื้อมากขึ้น นอกจากตลาดค้าปลีกแล้วผู้ส่งออกข้าวหันมาเจาะตลาดค้าส่ง โดยเฉพาะโรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา โรงงาน ฯลฯ ซึ่งตลาดค้าส่งนี้แข่งขันโดยการประมูล และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายปลีก(ตรายี่ห้อ บรรจุภัณฑ์ แรงงาน การขนส่งฯลฯ)

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกข้าวบางรายเริ่มหันไปผลิตข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษหรือข้าวเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ ข้าวเสริมวิตามิน ข้าวผสมสมุนไพร เป็นต้น ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวขาวบางรายเลือกที่จะขยายกิจการผลิตภัณฑ์ข้าว เช่น น้ำมันรำข้าว และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากข้าว สินค้าประเภทแป้งข้าว เส้นหมี่เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปังกรอบ ฯลฯ

ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิ ในช่วงที่ผ่านมาข้าวหอมมะลิของไทยได้รับการยอมรับในต่างประเทศ และเป็นตลาดข้าวระดับบนที่ไทยครอบครองมาอย่างยาวนาน คู่แข่งในตลาดบนหรือตลาดระดับเดียวกับข้าวหอมมะลิไทย คือ ข้าวบาสมาติของอินเดีย แต่ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของทั้งข้าวหอมมะลิและข้าวบัสมาติ รวมทั้งราคาข้าวบาสมาติของอินเดียก็อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าข้าวหอมมะลิของไทย ทำให้ผู้บริโภคจะเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกัน

แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้บริโภคข้าวหอมมะลิบางรายเปลี่ยนไปบริโภคข้าวหอมท้องถิ่น ซึ่งมีราคาถูกกว่า ทำให้ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิเริ่มเผชิญกับปัญหาท้าทายในการถูกเบียดแย่งตลาด โดยตลาดที่เริ่มมีปัญหา ได้แก่ ตลาดในฮ่องกงและมาเลเซีย ข้าวหอมของเวียดนามเริ่มเข้ามาเบียดแย่งตลาด ในสหรัฐฯ มีข้าวหอมจากเม็กซิโกเข้ามาแข่งขัน ฯลฯ รวมทั้ง ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยยังเผชิญปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิในตลาดจีน เนื่องจากข้าวหอมมะลิของไทยเป็นที่นิยมบริโภคของชาวจีนเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ รัฐบาลและผู้ส่งออกต้องร่วมมือกันเพื่อรักษาตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิ โดยการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคข้าวหอมมะลิของแต่ละตลาด ทั้งนี้เพื่อผลิตข้าวหอมมะลิให้ตรงตามความต้องการของแต่ละตลาดหรือสำหรับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายเฉพาะ รวมทั้งการสื่อสารกับผู้บริโภคให้ทราบถึงคุณลักษณะพิเศษของข้าวหอมมะลิ และขอความร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศปลายทางเพื่อที่จะควบคุมคุณภาพของข้าวหอมมะลิในระดับค้าปลีก

ผู้ส่งออกข้าวเหนียว ข้าวเหนียวนับเป็นข้าวที่ไม่เผชิญการแข่งขันที่รุนแรง โดยไทยครองตลาดส่งออกเกือบทั้งหมด และการส่งออกก็ได้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกข้าวเหนียวจะค่อนข้างแคบ โดยตลาดที่บริโภคโดยตรงนั้นจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีแรงงานหรือคนเอเชียเข้าไปตั้งรกรากอยู่ ดังนั้นตลาดที่กว้างกว่าน่าจะเป็นตลาดแป้งข้าวเหนียว ซึ่งนำไปทำขนมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยตลาดนี้เป็นตลาดที่ภาคเอกชนควรให้ความสนใจในการขยายตลาด อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงด้วยคือ ข้อจำกัดในการขยายปริมาณการผลิตข้าวเหนียว ซึ่งพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ และมีการปลูกเฉพาะในช่วงนาปีเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ