นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง ระบุว่า การที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาประเทศ 0.47% ของฐานเงินฝากนั้น คิดเป็นเงินนำส่งรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท/ปี โดยเงินที่ได้ดังกล่าวจะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งยังไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าจะนำไปใช้ชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF)
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการนำเงินส่งกองทุนพัฒนาประเทศจะเป็นภาระต่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอยู่บ้าง แต่ธนาคารทุกแห่งยืนยันว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ และไม่ได้กระทบต่อฐานะเงินทุนของแต่ละธนาคาร เพียงแต่อาจทำให้กำไรของแต่ละธนาคารลดลง ซึ่งจะมีผลต่อเงินนำส่งเป็นรายได้เข้ารัฐ
สำหรับแนวทางการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาประเทศของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนี้ จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ของธนาคารรัฐแต่ละแห่ง โดยจะต้องนำเรื่องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อนำเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป
"การส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาประเทศไม่ได้กระทบต่อฐานะเงินทุน แต่การเพิ่มทุนของแบงก์รัฐต้องดูว่าเป็นการเพิ่มทุนที่มาจากการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาลที่ทำให้เงินทุนของธนาคารลดลง หรือเงินทุนลดลงจากการทำธุรกิจตามปกติ ซึ่งจะต้องมีการชี้แจงให้ชัดเจน" รมช.คลัง กล่าว
นายวิรุฬ ในฐานะที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง ยังได้ให้นโยบายแก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐไว้ 2 แนวทาง คือ การปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือสังคม กับการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไป ซึ่งต้องแยกแยะพันธกิจให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีบทบาทในการสนับสนุนรากหญ้าให้เข้าสู่บริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง และมีการทำงานอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ โดยให้ธนาคารรัฐแต่ละแห่งเดินหน้าไปตามภารกิจหลัก ส่วนภารกิจรองคือการทำงานในเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ ได้เน้นให้สถาบันการเงินของรัฐแต่ละแห่งดูแลสัดส่วนเงินฝากของลูกค้ารายใหญ่ต่อรายย่อยให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อลดการแข่งขันด้านเงินฝากระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐด้วยกันเอง ให้มีการปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับต่ำ
อนึ่ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.), ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs Bank), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย