นายอัทธ์ พิศาลวนิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความพร้อมและความเข้าใจของภาคการผลิตและภาคบริการไทยต่อการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในภาคการผลิตและบริการจำนวน 1,000 ราย ในธุรกิจต่างๆ 11 สาขา เช่น เกษตรกรรม สุขภาพ ท่องเที่ยว พบว่า ในปี 54 ประกอบการขนาดกลางและย่อม(SMEs) ประมาณ 73.3% ยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขันสู่การเป็น AEC ขณะที่ 26.7% มีความพร้อมแข่งขัน ส่วนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ 92.6% ระบุว่ามีความพร้อมแข่งขัน แต่มีเพียง 7.4% เท่านั้นที่ไม่พร้อม
ทั้งนี้ จากการประเมินความพร้อมในด้านต่างๆ พบว่า ภาคการเงิน, การท่องเที่ยว, ร้านอาหาร และโรงแรม บริการอื่นๆ มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน, ศักยภาพผู้บริหาร, บุคลากรระดับปฏิบัติการ, เทคโนโลยี, ต้นทุนการผลิต, คุณภาพ, การบริหารจัดการ, การส่งเสริมจากภาครัฐในการใช้ประโยชน์จาก AEC และระบบโลจิติกส์
ส่วนธุรกิจที่พร้อมเป็นบางส่วน ได้แก่ เกษตรกรรม ที่มีความพร้อมด้านคุณภาพสินค้าและบริการ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พร้อมด้านโลจิสติกส์เช่นเดียวกับธุรกิจขนส่ง ส่วนธุรกิจที่ไม่มีความพร้อมในทุกด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรม ก่อสร้าง บริการสื่อสารคมนาคม การศึกษา สุขภาพและสปา ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่พบว่าธุรกิจเกษตรกรรม ยังขาดความพร้อมด้านต้นทุนการผลิตและการบริหารต่อหน่วย
นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อถามถึงความเข้าใจต่อ AEC เทียบปี 54 กับปี 53 พบว่า ในปี 54 ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเป็น 87.7% จาก 24.7% ในปี 53 ขณะที่ SMEs แม้สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นจาก 20.5% ในปี 53 มาเป็น 42.5% ในปี 54 แต่ยังมีสัดส่วนผู้ไม่เข้าใจมากกว่าครึ่ง
"หากไม่มีการดำเนินการอะไร เมื่อถึงปี 58 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 3 ปี ธุรกิจไทยโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ธุรกิจห้องแถวจะถูกนักธุรกิจจากอาเซียนเข้ามาทำกิจการแทน และสุดท้ายจะเหลือแต่ธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น" นายอัทธ์ กล่าว