In Focusมาตรการรัดเข็มขัด ยาขมหม้อใหญ่ที่กรีซต้องฝืนกินแม้รสชาติจะบาดคอ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 15, 2012 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เรื่องราวของกรีซเริ่มกลับมาเป็นจุดสนใจให้ตลาดการเงินทั่วโลกต้องลุ้นกันตัวโก่งกันอีกครั้งว่า กรีซจะได้รับความช่วยเหลือรอบสองจาก"เจ้าหนี้ขาประจำอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่ ...แต่โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี และยิ่งเป็น "ของแพง" อย่างเงินกู้อภิมหาศาลจากไอเอ็มเอฟ/อียูด้วยแล้ว ก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนที่สมน้ำสมเนื้อ และข้อแลกเปลี่ยนที่เป็นเสมือนยาขมหม้อใหญ่ที่กรีซไม่เต็มใจดื่มกินก็คือ "มาตรการรัดเข็มขัด" แต่ประเทศที่ถูกหนี้สินต้อนเข้ามุมอย่างกรีซย่อมไม่มีทางเลือก และที่น่าเศร้ากว่านั้นคือแทบจะไม่มีประเทศใดในยูโรโซนเห็นอกเห็นใจกรีซ หลายประเทศถึงขั้นเสนอให้กรีซเนรเทศตัวเองออกไปจากครอบครัวยูโรโซนและกลับไปใช้สกุลเงินดราชมา แทนเงินยูโร นั่นก็เพราะว่าเพราะปัญหาของกรีซเกิดจากการที่รัฐบาลถลุงงบประมาณและใช้จ่ายเกินตัว จนเป็นเหตุให้รัฐบาลมีหนี้สาธารณะมูลค่ามหาศาล

หากย้อนไปเมื่อเดือนพ.ค. 2553 เราคงจำกันได้ว่า รัฐบาลกรีซในสมัยนั้นซึ่งอยู่ภายใต้การนำของนายจอร์จ ปาปันเดรอู พยายามล้อมคอกเศรษฐกิจที่ใกล้จะพังพินาศด้วยการดิ้นรนขอกู้ยืมเงินรอบแรกจากไอเอ็มเอฟและอียู แต่นายปาปันเดรูองจำต้องรับเงื่อนไขมหาโหดจากเจ้าหนี้ ด้วยการรัดเข็มขัดในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจและต้องรายงานผลให้ทราบทุกไตรมาส ไม่ว่าจะเป็นการลดเงินเดือนและโบนัสข้าราชการ ลดเงินบำเน็จบำนาญและเพิ่มอายุการเกษียณงาน ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 21% เป็น 23% และขึ้นภาษีประเภทอื่นๆอีกหลายรายการ ... จากหนี้สาธารณะที่ควรจะเป็นความรับผิดชอบของรัฐ แต่กลับกลายมาเป็นภาระหนี้ที่ชาวกรีซทั้งประเทศต้องร่วมแบก ทำฤดูกาลอันอบอุ่นในเดือนพ.ค. 2553 จนกลายเป็นฤดูร้อนระอุ เมื่อชาวกรีซนับพันคนก่อการประท้วงอย่างดุเดือดจนถึงขั้นมีการจุดไฟเผาตึกหลายแห่งกลางกรุงเอเธนส์ ทำมีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บอีกเกือบ 100 คน

... อีก 2 ปีต่อมา เรื่องของกรีซก็กลับมาเขย่าตลาดการเงินทั่วโลกอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการผลัดใบทางการเมืองซึ่งมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเป็นนายลูคัส ปาปาเดมอส อดีตรองประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) หรือวงจรเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และที่สร้างความหวาดผวาให้กับตลาดมากที่สุดก็เมื่อนายกรัฐมนตรีปาปาเดมอสยอมรับเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2555 ว่า กรีซอาจจะต้องผิดนัดชำระหนี้ในเดือนมี.ค. หากไม่ได้รับเงินกู้รอบที่สองจากไอเอ็มเอฟและอียู ยิ่งไปกว่านั้น กรีซพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะขอเจรจาปรับลดมูลค่าพันธบัตร (การทำ haircut) กับสถาบันการเงินที่ถือครองพันธบัตรของกรีซ ลงในสัดส่วน 50% เพื่อกรีซจะไม่ต้องแบกรับภาระในการไถ่ถอนแบบเต็มวงเงิน ...วาทะสะท้านทรวงของนายกรัฐมนตรีกรีซได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก เนื่องจากกรีซกำหนดเส้นตายในการไถ่ถอนพันธบัตรมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านยูโรในวันที่ 20 มี.ค. ซึ่งหากกรีซผิดนัดชำระหนี้ในครั้งนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆในยูโรโซนด้วย

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2555 นักลงทุนก็พากันโล่งในไปเปลาะหนึ่ง เมื่อรัฐสภากรีซมีมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 อนุมัติมาตรการรัดเข็มขัดฉบับใหม่ เพื่อแลกกับความช่วยเหลือรอบที่ 2 จากไอเอ็มเอฟและอียู วงเงิน 1.30 แสนล้านยูโร ซึ่งจะช่วยให้กรีซสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 20 มี.ค.นี้ได้ ซึ่งมาตรการรัดเข็มขัดฉบับใหม่นี้ ครอบคลุมถึงการลดค่าแรงขั้นต่ำ และการลดตำแหน่งงานในภาคสาธารณะ

แม้ว่ากรีซได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศในเรื่องความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ แต่สถานการณ์รุนแรงก็กลับมาหลอกหลอนกรีซอีกครั้ง เมื่อชาวกรีซจำนวนมากได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดในระหว่างที่รัฐสภากำลังลงมติ ซึ่งการชุมนุมประท้วงได้บานปลายกลายเป็นการจลาจลจนถึงขั้นมีการวางเพลิงโรงภาพยนตร์ ร้านค้า และธนาคารในกลางกรุงเอเธนส์ นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประท้วงยังได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลที่บริเวณนอกอาคารรัฐสภา นอกจากนี้ การจราจลยังลุกลามไปถึงสถานที่ท่องเที่ยว เช่น เกาะคอร์ฟู และเกาะครีต ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 15 นาย ส่วนประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล 70 ราย และมีผู้ถูกจับกุม 45 ราย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

นายออลลี เรห์น กรรมาธิการฝ่ายกิจการเศรษฐกิจและการเงินของอียูได้ออกมาขานรับรัฐสภากรีซที่มีมติอนุมัติมาตรการรัดเข็มขัด และแนะนำว่ากรีซจำเป็นจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อกรีซและประเทศอื่นๆในยุโรป

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนมากยังไม่ปักใจเชื่อว่า เงินกู้จากไอเอ็มเอฟจะเป็นยาวิเศษที่สามารถกำราบปัญหาเศรษฐกิจและการคลังของกรีซได้ บางคนมองว่า กรีซไม่ต่างอะไรกับ เลห์แมน บราเธอร์ส ในโลกของภาครัฐ และเงินช่วยเหลือ 1.3 แสนล้านยูโรก็อาจต่อลมหายใจให้กับกรีซไปได้สักระยะหนึ่งเท่านั้น ดังที่ศาสตราจารย์ นูเรียล รูบินี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าวว่า ปัญหาหนี้ของกรีซไม่ต่างจากระเบิดเวลาลูกใหญ่ในมือไอเอ็มเอฟ ที่มีรัศมีทำการรุนแรงจนถึงขั้นทำให้ประเทศอื่นๆในยูโรโซนได้รับแรงสั่นสะเทือนไปด้วย

... และสิ่งที่ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาดูอย่างไม่กระพริบในช่วงนี้ คือการประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซนรอบใหม่ว่าด้วยการลงมติให้ความช่วยเหลือกรีซรอบสองในวันที่ 20 ก.พ.นี้ หลังจากการที่การประชุมรอบแรกในวันนี้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากกรีซยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการตามพันธกรณีในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจตามที่ผู้นำยูโรโซนเรียกร้อง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่จะชี้ชะตาว่า กรีซจะรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ในเดือนหน้าหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ