รมว.พลังงาน มอบนโยบายกฟผ. เล็งปรับแผน PDP-ระบายน้ำเขื่อนรับมือน้ำท่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 15, 2012 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยได้มอบนโยบายแก่ กฟผ.ในการวางแผนการผลิตไฟฟ้าในอนาคตที่จะต้องมีการจัดหาให้พอเพียง ซึ่ง กฟผ.มีการวางแผนการผลิตไฟฟ้าในอนาคตภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว(PDP) 2010 แต่อาจจะต้องนำกลับมาศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนแผนใหม่ เนื่องจากปี 54 ที่ผ่านมามีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงในปลายปีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่

อย่างไรก็ดี ในปี 55 นี้คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นมาก จึงต้องปรับแผน PDP ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และวางแผนการจัดหาไฟฟ้าที่มั่นคงสำหรับอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนที่จะต้องมีปรับแผนใหม่ คือ การศึกษาเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม ซึ่งตามแผน PDP มีการกำหนดให้รับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 25% จากกำลังการผลิตทั้งหมด และมีการปรับแผนในส่วนของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด และโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชื้อเพลิงทั้ง 2 ประเภทถูกต่อต้านมาก แต่ยอมรับว่ามีความจำเป็นต้องเกิดขึ้น เพราะการใช้เชื้อเพลิงประเภทนี้ในการผลิตไฟฟ้าจะมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ต่ำลงอาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าในอนาคตไม่แพงขึ้นมาก และยังมีความมั่นคงสูง

แต่ทั้งนี้การจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นในประเทศไทย จะต้องมีการทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ผ่านก่อน และจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หากไม่มีการต่อต้านก็จะดำเนินการสร้างต่อไป ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องศึกษาต่อเนื่องเพื่อเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคต

รมว.พลังงาน กล่าวถึงการปรับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศว่า ควรจะปรับให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยให้นโยบายว่าควรจะต้องสร้างสมดุลกับการผลิตไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะพม่า ซึ่งอาจจะมีการเข้าไปเจรจาซื้อขายเพิ่มเติม และที่ผ่านมา กฟผ.ก็มีข้อตกลงเบื้องต้นกับรัฐบาลพม่าในการรับซื้อไฟฟ้าเข้าประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ กฟผ.เข้าไปเจรจาดำเนินการลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตรึงนัม ร่วมกับประเทศกัมพูชา ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาได้เคยมีข้อตกลงเบื้องต้นในการที่จะเข้าไปศึกษาโครงการนี้ร่วมกัน

ส่วนนโยบายการปล่อยน้ำจากเขื่อนของ กฟผ. เมื่อได้รับฟังข้อมูลพบว่า หากไม่มีเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ ที่ จ.อุตรดิตถ์ ปัญหาน้ำท่วมในปีที่ผ่านมาจะรุนแรงกว่านี้และหลังจากที่ได้ร่วมลงพื้นที่น้ำท่วมกับนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้เขื่อนของ กฟผ.ต้องรับภาระน้ำท่วมเป็นหลัก

ซึ่งวันนี้จากการรายงานของ กฟผ.จะมีการปล่อยน้ำให้มากที่สุด เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนใหม่ที่จะมาใช้ช่วงเดือนพ.ค.นี้ โดยต้นฤดูฝนประมาณต้นเดือนพ.ค. ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จะต้องมีปริมาณน้ำในเขื่อนที่ 45% ของปริมาณความจุของอ่างเก็บน้ำ สำหรับส่วนของการผลิตไฟฟ้าวันนี้มีการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนเพียง 5% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดจึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ดี หากปีนี้มีภาวะฝนแล้งก็ขอให้เข้าใจกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดการณ์ถึงได้ แต่ก็ได้สั่งการให้ กฟผ.เตรียมความพร้อมไว้ในกรณีนี้ด้วย

ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า แนวโน้มต้นทุนราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เช่น ก๊าซธรรมชาติปรับขึ้นตามต้นทุนราคาน้ำมัน ซึ่งมีแนวโน้มปรับขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะมีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร(FT) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการ(กกพ.)พิจารณา แต่ กฟผ.ได้มีการลดต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงด้วยการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำผลิตไฟฟ้า 5% ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันและก๊าซฯ ลดลง

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลแทรกแซงราคาพลังงานควรจะดำเนินการชั่วคราว เพราะทำให้การใช้พลังงานมีการบิดเบือนในระยะยาวควรมีการปรับขึ้นราคาตามความเป็นจริง

ทั้งนี้ กฟผ.มีแผนที่จะกู้เงินในปีนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินเพื่อมาดำเนินการในการบริหารจัดการปกติ หากรัฐบาลสั่งการให้ กฟผ.ตรึงค่า FT ในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.นี้อีกก็อาจจะทำให้ กฟผ.ต้องกู้เงินเพิ่มเติม โดยแผนการกู้เงินของ กฟผ.จะมีทั้งการกู้เงินจากสถาบันการเงิน การออกพันธบัตร การลงทุนในกองทุนสาธารณูปโภค โดย กฟผ.รับภาระค่า FT งวดเดือนม.ค.-เม.ย.55 ไปแล้วกว่า 8 พันล้านบาท รวมถึงต้องรับภาระเพิ่มเติมจากการให้การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินการเรื่องค่าไฟฟ้าฟรี 50 หน่วย รวมประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่ง กฟผ.ให้ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าโดยไม่คิดค่าปรับ ทำให้ช่วงนี้ฐานะการเงินของ กฟผ.ค่อนข้างตึงตัว

สำหรับแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.พ.) ขยายตัวเพิ่มมากกว่า 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนทั้งปีก็คาดว่าจะขายตัวระดับที่เติบโตกว่าอัตราเติบโตของ GDP เล็กน้อยหรือใกล้เคียงกันที่ประมาณ 4-5%

ส่วนการสำรองไฟฟ้าขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีการเร่งรัดการผลิตไฟฟ้าในปีที่แล้วให้เป็นไปตามแผน โดยปีนี้สำรองไฟฟ้ายังอยู่ที่ 15-20% ยังเพียงพอรองรับความเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ส่วนโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา และวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ผู้รับเหมาแล้ว และเริ่มก่อสร้างแล้ว

สำหรับการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนขณะนี้ ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 77% เขื่อนสิริกิติ์มี 75% ของความจุอ่าง ซึ่งลดลงจากช่วงปีใหม่ที่มีเกือบ 100% โดยในต้นเดือนพ.ค.นี้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จะต้องมีปริมาณน้ำเหลือ 45% ทำให้เขื่อนภูมิพลจะสามารถรับน้ำเพิ่มได้อีก 7 พันล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์รับน้ำเพิ่มได้อีก 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ