(เพิ่มเติม) "กิตติรัตน์"แจงความจำเป็นพ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อใช้ลงทุนป้องกันน้ำท่วม แม้ต้องใช้เวลา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 15, 2012 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องออกพ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับว่า เพื่อเร่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนถึงแม้ว่าตัว พ.ร.ก.เงินกู้เป็นเหมือนแผนระยะยาวที่อาจจะต้องใช้เวลายาวนาน 1-2 ปี แต่ก็มีความจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน และเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเหมือนปีที่ผ่านมา

"การใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาท อาจจะใช้เวลามากกว่า 1-2 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเริ่มช้า หากเรามีความพร้อมในการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความพร้อมที่จะป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในประเทศ" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลสามารถออกเป็นพ.ร.บ.ได้หรือไม่ เนื่องจากยังมีเวลาในการจัดเก็บเงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเพื่อจ่ายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF)งวดแรก ในเดือน ก.ค.55 นายกิตติรัตน์ ชี้แจงว่า การที่รัฐบาลออกเป็นพ.ร.ก.เนื่องจากจะสามารถนำเงินจากกองทุนฟื้นฟูมารวบรวม ก่อนจะนำส่งกองทุนฟื้นฟูในเดือนก.ค.55 ซึ่งจะสามารถดูแลเงินต้นและดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูได้ และเมื่อถึงเดือนต.ค.55 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็สามารถมีเงินส่งต่อไปถึงกองทุนฟื้นฟูฯได้ จึงมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกันดี และจะไม่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มเติมจนเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลต้องไปตั้งเอาไว้ในงบประมาณปี 56 อีก 6 หมื่นล้านบาท

ส่วนกรณีที่รัฐบาลกำหนดเพดานเรียกเก็บเงินค่ารรมเนียมจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากในอัตรา 0.47% นั้น ทั้งๆ ที่ ธปท.คำนวณแล้วว่าสามารถเก็บได้เต็มเพดาน 0.52% รองนายกฯชี้แจงว่า การคำนวณที่ 0.47% เป็นอัตราที่เมื่อนำกำไรไปหักกับภาษีนิติบุคคลแล้วก็ถือว่ายังอยู่ในช่วงที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ซึ่งยังส่งผลดีที่ยังมีผลกำไรอยู่เล็กน้อย จึงเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะเก็บที่อัตรา 0.47% แต่ถ้าหากเก็บที่ 0.52% เมื่อนำกำไรไปหักภาษีเงินได้นิติบุคคลก็จะทำให้มีเงินลดลง

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลนำเงินของสถาบันคุ้มครองเงินฝากซึ่งมีเงินอยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ถือว่ามีความมั่นคงเพียงพอโดยที่รัฐบาลไม่ต้องเร่งเก็บเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากอีก เนื่องจากสถาบันการเงินต่างๆมีความเข้มแข็งในตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบเก็บเงินให้ถึง 2 แสนล้านบาทตามที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลออกพ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ คำนวณภายใต้วินัยการเงินการเงินคลังไว้เป็นอย่างดี และการทำงานตลอดเวลาที่ผ่านมา มีการปรึกษาแนวทางกับทาง ธปท.ตลอด ซึ่งวันนี้ได้ส่งแผนงานทั้งหมดที่เป็นหนังสือต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า เงิน 3.5 แสนล้านบาทจะนำไปใช้ในส่วนใดบ้าง

ส่วนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดรัฐบาลไม่ออกพ.ร.ก.ในช่วงที่ปิดประชุมสภาฯในช่วงพ.ย.-ธ.ค.54 นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้คำนึงว่าจะออกพ.ร.ก.ในช่วงปิดหรือเปิดประชุมสภาฯ แต่การที่รัฐบาลพิจารณาออกพ.ร.ก. คำนึงถึงผลกระทบจากรอบด้านทั้งหมด ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้เกียรติต่อฝ่ายนิติบัญญัติ แต่คำนึงถึงความเสียหายทั้งหมด มิฉะนั้นก็จะถูกตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลอาจจะใช้เงินมากเกินความจำเป็นอย่างที่บางคนระบุว่าอาจจะต้องใช้เงินถึง 4-5 แสนล้านบาท หรือไม่ก็อาจจะสูงถึง 8 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่า 3.5 แสนล้านบาทมีความเพียงพอ

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ได้ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยมองว่ารัฐบาลไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องหาแหล่งเงินกู้อื่นมาชำระดอกเบี้ย หรือนำเม็ดเงินนี้มาจัดการกับหนี้สาธารณะของกองทุนฯ และไม่น่าจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะอ้างว่าการต้องเร่ง ออก พ.ร.ก.เพื่อใช้ในการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม เพราะเห็นว่าภาระหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขณะนี้ยังอยู่ในระดับเพียง 41% ซึ่งตามเพดานสูงสุดสามารถก่อหนี้ได้ถึง 60% และส่วนต่างในขณะนี้รัฐบาลสามารถกู้เงินได้อีก 2 ล้านล้านบาท

นายกรณ์ ระบุว่า หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIFD) ถือเป็นภาระที่มีมานานนับสิบปี ซึ่งแต่ละรัฐบาลสามารถจัดงบประมาณได้อย่างเพียงพอในการเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และถึงแม้จะมีภาวะวิกฤติก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปหาเงินทุนจากแหล่งอื่นเพื่อมาชดเชยดอกเบี้ยในส่วนนี้

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่มีเงินอยู่ในขณะนี้ 80,000 ล้านบาทนั้น นักวิเคราะห์บางคนมองว่าเงินในส่วนนี้น่าจะมีอยู่ถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับเพดานที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้หากเกิดปัญหาวิกฤติดังเช่นในปี 40 ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเพื่อนำส่งให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ

นายกรณ์ ยังมองว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลต่อระบบธนาคารในทางลบ ซึ่งอาจทำให้ผู้กู้เงินต้องรับภาระอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยได้ พร้อมกับต้องการให้รัฐบาลกำหนดแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและแผนการบริหารจัดการการใช้เงิน ซึ่งมองว่ารัฐบาลยังไม่มีความพร้อมที่จะใช้เงิน และแผนการระยะยาวในการบูรณาการลุ่มน้ำนั้นอาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีจึงจะสามารถจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณในรอบปีปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ