นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ (กยอ.) กล่าวในงานเสวนาทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ "พลิกโฉมประเทศไทย"ว่า รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย ด้วยการสร้างถนนเชื่อมท่าเรือน้ำลึกทวาย ดานัง อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า การเร่งสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อต่อไปยังลาว จีน
โดยขณะนี้ได้หารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อเร่งเดินหน้าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นอันดับแรก จากนั้นจะเร่งสานต่อเส้นทางอื่นเพิ่มเติม จากนี้ไปจะศึกษาระบบการลงทุนให้ครบทั้งการก่อสร้างระบบราง การบริหารการเดินรถ วงเงินลงทุน และการเปิดให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศมาร่วมลงทุน
รวมถึงการเดินหน้าสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งได้ตั้งวงเงินลงทุนไว้ 3.5 แสนล้านบาท ทั้งการสร้างฟลัดเวย์หรือทางระบายขนาดใหญ่ แก้มลิง ปรับปรุงประตูระบายน้ำ รวมถึงโครงการขนาดใหญ่ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินถึง 2.2 ล้านล้านบาทโดยเป็นลงทุนในช่วง 10 ปีข้างหน้า และสามารถกู้เงินในประเทศได้โดยไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ หรือเงินกู้ต่างประเทศที่มีเงื่อนไขผ่อนปรน
สำหรับการที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนนั้น นายวีรพงษ์ มั่นใจว่าประเทศจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน แต่ก็อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนและทำการค้ากับทางประเทศจีนและอินเดีย โดยเฉพาะประเทศอินเดียที่รัฐบาลอาจยังเห็นความสำคัญน้อยเกินไป
พร้อมทั้งแนะนำให้รัฐบาลควรเข้ามาส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ในการส่งเสริมทางด้านการเกษตรไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพันธุ์ข้าว ธัญพืช ผลไม้ รวมไปถึงทางด้านการประมง
นายวีรพงษ์ ยังมองว่ากลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่นและจีนจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากกว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือกลุ่มประเทศยุโรปที่กำลังประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ จึงเห็นว่าต้องเร่งส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มการลงทุนในประเทศ เพราะหากประเทศมีเงินทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น ก็สามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้ ซึ่งต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในการส่งเสริมการลงทุนให้กับภาคเอกชน
ด้านนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การพลิกโฉมของประเทศต้องมีปรับโครงสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งด้านการพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยขยายการผลิตในสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุน รวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่โดยการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนของไทย เพื่อช่วยในการกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจด้วย
"ไทยสามารถใช้ศักยภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วน หรือชักจูงให้เข้ามาลงทุนผลิตสินค้าทุนในประเทศ หรือแม้กระทั่งหุ้นส่วนใหม่ๆเช่นประเทศจีนหรืออินเดีย เป็นต้น"นายฉลองภพ กล่าว
ส่วนการพัฒนาพื้นที่ ควรเน้นพัฒนาในการขยายการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จีน- ลาว-หนองคาย ซึ่งขณะนี้จีน ลาว เร่งเจรจาตกลงกันได้แล้ว ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเจริญมากขึ้น นอกจากนี้พม่าเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น หากพัฒนาเส้นทางไปด้านตะวันตก เชื่อมต่อไปยังอินเดีย ด้านตะวันตกของไทยจะเติบโตตามไปด้วย
ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ สถาบันนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.5 มีการลงทุนเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2548-2554 ดังนั้นหากจะให้เศรษฐกิจของประเทศพลิกโฉม ต้องปรับให้เศรษฐกิจเติบโตจากภาคเอกชนที่มาจากการปรับปรุงคุณภาพ โดยภาครัฐเข้าไปแทรกแซงบ้างในบางส่วน และมองว่าแม้ยอดตัวเลขคนจนจากจำนวน 22 ล้านคนในปี 31 ได้ลดเหลือ จำนวน 5.4 ล้านคนในปี 2550 แต่การกระจายรายได้ยังมีปัญหา เพราะสัดส่วนคนรวยร้อยละ 20 ต่อสัดส่วนคนจนร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ยังมีรายได้ห่างกันถึง 12 เท่าตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ต้องการให้กระทรวงการคลังเร่งผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อให้ทุกโครงการลงทุนเดินหน้าต่อไปได้ จากเดิมมองว่าเอกชนมักเกิดมีการทุจริตจึงปิดกั้นเอกชนมาลงทุน แต่เมื่อภาครัฐลงทุนเองแล้วกลับทำให้โครงการลงทุนมีปัญหาล่าช้า และยังเกิดปัญหาคอร์รัปชั่นจากหน่วยงานรัฐ
ดังนั้น ต้องแก้ไขให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนแบบ PPP ในวงเงินลงทุนมากขึ้นด้วยมุมมองใหม่ เพราะเอกชนรายใหญ่จะมีตัวชี้วัด และมาตรการติดตามตรวจสอบจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้แบ่งเบาภาระของภาครัฐได้ และยังช่วยให้การบริหารโครงการมีความคล่องตัวมากขึ้น
ส่วนนายบรรยง พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางการปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนในการผลักดันให้เอกชนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ให้มีบริการและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพในการพัฒนาแรงงานนอกจากนี้ยังมองว่าการให้บริการสาธารณะโครงสร้างพื้นฐานหลายด้านยังผูกขาดโดยภาครัฐ
ดังนั้น หากจะให้มีแข่งขันกับเอกชนและต่างชาติ ควรเร่งทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐวิสาหกิจปรับตัวพัฒนาทั้งคุณภาพและบริการและอยากให้ทุกส่วนควรร่วมกันป้องกันและแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งยังมีอยู่มากในสังคมไทยและในปัจจุบันยังมีคนส่วนหนึ่งที่ยอมรับได้กับการมีทุจริตคอรัปชั่น เพราะคิดว่าจะทำให้บ้านเมืองมีการพัฒนาซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่ผิด เนื่องจากจะเกิดผลเสียตามมาในระยะยาว