"หม่อมอุ๋ย"มอง AEC ไทยได้มากกว่าเสีย, แนะผู้ผลิตที่รับผลกระทบนำเข้าต้นทุนต่ำแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 16, 2012 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาวิชาการ“ธุรกิจไทยจะอยู่อย่างไรหลังเปิดเสรีอาเซียน"ว่า การเปิดเสรีการค้าอาเซียนจะมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยมองว่าน่าจะได้รับประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ความรู้และทักษะเฉพาะด้านในการผลิตสูง อย่างเช่น กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ซึ่งหลายบริษัทของไทยเป็นผู้นำในธุรกิจเหล่านี้ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจออกไปประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความพร้อมและได้เปรียบในทุกๆด้าน

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าเพื่อนบ้าน อย่างเช่น รองเท้ายาง และเสื้อผ้าที่มีราคาถูกจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ดังนั้น จึงควรที่จะค่อยๆเลิกผลิตไปและหันมานำเข้าสินค้าเหล่านั้นจากผู้ผลิตในประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าแทน

“การเปิด AEC จะมีทั้งคนที่ได้รับประโยชน์และได้รับผลกระทบ ซึ่งสินค้าที่มีความสามารถในการแข้งขันเช่น สินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีคุณภาพและต้นทุนต่ำ ควรวางแผนขยายกิจการให้มากขึ้น ส่วนสินค้าที่มีต้นทุนการผลิตสูง ผู้ประกอบการควรหันมาเป็นพ่อค้าคนกลางแทน เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุนจากการทำธุรกิจ"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยควรที่จะวางแผนขยายการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคต่างๆให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางขนส่งของอาเซียน โดยควรมีการสร้างคลังสินค้าบนถนนที่ตัดเชื่อมต่อกับอาเซียน เพื่อให้ไทยเป็นแหล่งกระจายสินค้าในอาเซียนในอนาคต

ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นั้น หากต้องการให้ภาคเอกชนแข่งขันในตลาดอาเซียนได้ รัฐบาลควรที่จะต้องทยอยปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า แทนที่จะขึ้นในครั้งเดียว เพื่อให้ต้นทุนการผลิตสินค้าไม่สูงมาก ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศในอาเซียนได้

ด้านนายอรินทร์ จิรา สมาชิกสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน และอดีตประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน กล่าวว่า การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น จะทำให้ตลาดของประเทศอาเซียนทั้ง 10 ตลาดกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน แรงงานและการค้า ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรที่จะศึกษาข้อมูลให้ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆอาทิเช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

รวมทั้งศึกษาข้อแตกต่างด้านกฎหมายของแต่ละประเทศอย่างชัดเจน และจะต้องพัฒนาด้านภาษาเพื่อให้ทำการค้าต่อกันง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตได้ภายหลังจากการเปิด AEC ในปี 2558 ขณะที่ภาครัฐก็ควรที่จะต้องวางแผนในการจัดตั้งศูนย์การค้าและการลงทุนในประเทศอาเซียนเพิ่มเติม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ