สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 55 จะขยายตัวได้ถึง 5.5-6.5% สูงกว่าเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโต 4.5-5.5% เป็นผลจากสถานการณ์อุทกภัยในปี 54 ที่มีความรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้ ทำให้เชื่อว่าต้องมีการลงทุนเพื่อฟื้นฟูประเทศครั้งใหญ่ แต่การประเมินดังกล่าวอยู่ภายใต้คาดการณ์ว่าไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงเหมือนในปีก่อน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ธนาคารโลกประเมินว่าประเทศไทยจะต้องใช้เงินมากกว่า 7.98 แสนล้านบาทในการฟื้นฟูประเทศทั้งในส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐ ประกอบกับภาครัฐจะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง การซ่อมรางรถไฟทั่วประเทศ เป็นต้น ขณะที่ภาคเอกชนก็จะมีการลงทุนอีกมาก
สำหรับจีดีพีในไตรมาส 1/55 จะสามารถขยายตัวเป็นบวกได้อย่างแน่นอน แต่คงจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่สูงนักเนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวภายหลังจากเศรษฐกิจของประเทศได้รับความเสียหายอย่างมากจากเหตุอุทกภัยในปลายปี 54 พร้อมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เป็นปกติตั้งแต่ไตรมาส 2/55 เป็นต้นไป
นายอาคม กล่าวถึงแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ว่า ถือว่ามาตรการดังกล่าวของภาครัฐค่อนข้างมีความชัดเจน โดยเชื่อว่าจะสามารถรับมือกับปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ได้ เพียงแต่การชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้กับนักลงทุนได้รับทราบและเข้าใจยังทำได้น้อยเกินไป
"มาตรการของภาครัฐถือว่าชัดเจน แต่การอธิบายให้นักลงทุนยังน้อยไป...ปีนี้ถ้าพายุมาสัก 2-3 ลูก คิดว่าน่าจะรับมือได้ แต่ถ้ามามากกว่านั้นก็เชื่อว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นคงจะไม่มากเท่ากับปีก่อน" เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าว
สภาพัฒน์ระบุว่า ปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่เป็นตัวสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้คือ 1.การลงทุนด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีแนวโน้มขยายตัว ทั้งเพื่อการซ่อมแซมความเสียหายจากผลกระทบของน้ำท่วมจากทั้งภาครัฐและเอกชน และเพื่อการลงทุนป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมาตรการเร่งรัดฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจและการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนของภาครัฐยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.) ได้พิจารณาแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปี 55-59 ในกรอบวงเงินประมาณ 2.65 ล้านล้านบาท ในวงเงินจำนวนนี้มีแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืนในกรอบวงเงินประมาณ 3.4 แสนล้านบาทที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว
2.ภาคเศรษฐกิจสำคัญมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งการส่งออกในไตรมาส 4/54 หดตัวเพียง 4.8% แม้ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างรุนแรงจากทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะน้ำท่วม ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนม.ค.55 มีจำนวน 1.94 ล้านคน ขยายตัว 7.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้อัตราการว่างงานในเดือนธ.ค.54 ยังปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 0.4% จาก 0.8% ในเดือนพ.ย.54 ขณะที่กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค.54 อยู่ที่ 52.3 ดีขึ้นจากเดือนพ.ย.54 ซึ่งอยู่ที่ 40.5
3.รายได้ภาคครัวเรือนสูงขึ้นจากการปรับขึ้นเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำ ตามนโยบายการปรับโครงสร้างรายได้ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท การปรับเพิ่มรายได้แรกเข้าของข้าราชการที่จบปริญญาตรีเป็นเดือนละ 15,000 บาท รวมทั้งการรับจำนำสินค้าเกษตร ทั้งข้าว, มันสำปะหลัง นอกจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการลดค่าครองชีพและกระตุ้นการบริโภค เช่น การชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของเบนซินและดีเซล, การคืนเงินภาษีแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
4.รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ระดับต่ำในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นมาตรการทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวได้ ประกอบกับแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงและทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 55 ยังมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดสำคัญ 5 ประการ คือ 1.ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีแนวโน้มผันผวนและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และบริการ รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน อีกทั้งยังเป็นความเสี่ยงต่อภาระการใช้จ่ายภาครัฐในการชดเชยความเสียหายและบูรณะฟื้นฟู ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศได้
2.เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกลดลง นอกจากนี้การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกจะกระทบต่ออุปสงค์ของการใช้พลังงานและสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทำให้ราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวมีแนวโน้มลดลง ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรของไทย
3.ตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนและความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้สภาพคล่องในระบบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั้งเพื่อการลงทุนและเก็งกำไรอย่างต่อเนื่อง
4.ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยเฉพาะจากกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มีความรุนแรงมากขึ้น และ 5.การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมบางประเภท เนื่องจากการตึงตัวของตลาดแรงงานรวมทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการย้ายฐานการผลิต