น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึง โครงการแท็บเล็ตเด็กป.1 ว่า ในส่วนของงบประมาณที่ครม.อนุมัติไว้ 1.9 พันล้านบาทนั้น กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแล โดยกระทรวงไอซีทีจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดำเนินการ จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 22 ก.พ.55 เพื่อเสนอรูปแบบของการจัดหา คาดว่าจะใช้รูปแบบการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ(G to G) ซึ่งจะไม่มีการประมูล
อย่างไรก็ตาม ในการจัดหาแท็บเล็ตเด็กจะมีจำนวนทั้งสิ้น 560,000 เครื่อง เบื้องต้นกำหนดราคาต่อเครื่องไว้ที่ 3,100 บาท และราคาประกอบ 300 บาท รวมราคา 3,400 บาท/เครื่อง ยังไม่ใช่ราคาต่อรอง โดยจะดำเนินงานให้ทันกับการเปิดภาคเรียนวันที่ 23 พ.ค.นี้ ซึ่งเด็กป.1 จะได้ใช้งานมีอยู่ราว 860,000 คน จึงต้องขอผูกพันงบประมาณปี 56 ไว้ล่วงหน้า ส่วนการจัดส่งเครื่องแท็บเล็ตตามหลักการจะเป็นการทยอยส่งคงไม่ได้มาล็อตเดียวกันทั้งหมด
สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจรับสเปกนั้น ทางคณะกรรมการชุดใหญ่จะตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบสเปกตามที่ได้กำหนดไว้ โดยเป็นสเปกเดิม คือ หน้าจอสัมผัส 7 นิ้ว หน่วยบันทึกข้อมูล 16 กิกะไบต์ หน่วยประมวลผลกลาง หรือ ซีพียู แบบ dual core ไม่ต่ำกว่า 1 กิ๊กกะเฮิร์ตซ และหน่วยความจำหลักไม่น้อยกว่า 512 เมกะไบต์ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.2 และรองรับ แอนดรอยด์ 4.0 ได้
นอกจากนี้ กระทรวงไอซีทียังได้เร่งผลักดันโครงการสมาร์ท ไทยแลนด์ อย่างต่อเนื่อง โดยจะลงทุน 8 หมื่นล้านบาท เพื่อกระจายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง(บรอดแบนด์)ผ่านสายไฟเบอร์ให้เข้าถึงประชากรได้ 80% ในปี 58 ซึ่งจะเป็นการดำเนินการในลักษณะการใช้เสาสถานีฐานร่วม (Co-site) จากเอกชนทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 3.5 หมื่นสถานี
"อยากจะขอให้เอกชนทำหน้าที่กระจายโครงข่ายหลักเพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้ตามบ้าน(Last miles) ทั้งหมด 16 ล้านครัวเรือน ผ่านเทคโนโลยีทั้งหมดที่มีอยู่ อาทิ 3จี, แอลทีอี(4จี), เอฟทีทีเอกซ์ โดยตั้งเป้าการมีโครงข่ายเข้าถึงจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านไอทีของประชากรลงจาก 6% เหลือ 3% และ 1%"น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
การเร่งผลักดันโครงการสมาร์ท ไทยแลนด์ จะสามารถทำให้อันดับการน่าลงทุนด้านไอซีทีของไทยขยับสูงมาอยู่ที่อันดับ 34 ภายในปี 2558 หลังจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อันดับไอซีทีของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากอันดับที่ 37 ตกไปอยู่ที่อันดับ 49 และ 59 ตามลำดับเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่อันดับขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 37 แทนที่ประเทศไทย
ทั้งนี้ ในการเปิดตัวโครงการสมาร์ท ซิตี้ จ.นครนายก วันที่ 24 ก.พ.55 จะเป็นต้นแบบของการให้บริการภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การทำธุรกรรมออนไลน์ บริการ e-Government โดยตั้งเป้าเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรใน จ.นครนายกได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีรายได้คนละ 8 หมื่นบาทต่อปี