ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาด GDP ปี 55 โต 4.5-6% กิจกรรมทางศก.ช่วยกระตุ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 20, 2012 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยในปี 55 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 4.5-6.0% หรือเฉลี่ยที่ 5% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะขยายตัวได้ 1.0-1.5% ซึ่งแม้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า(ไตรมาส 4/54)ที่ติดลบ 9% แล้ว จะขยายตัวถึง 12.5-13.5% ซึ่งถือว่าขยายตัวในอัตราสูงตามทิศทางการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเร่งระดับขึ้นได้ค่อนข้างเร็ว

ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกจะมีแรงขับเคลื่อนมาจากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาจากอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บวกกับกิจกรรมในการบูรณะซ่อมแซมความเสียหายของอาคาร สิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรต่างๆ เพื่อให้กลับมาดำเนินการผลิตได้เป็นปกติ แม้บางโรงงานที่ถูกน้ำท่วมเสียหายรุนแรงอาจยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการฟื้นฟูสายการผลิต

นอกจากนี้ แรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐอาจยังมีไม่มากนักในไตรมาสแรกนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 55 เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 8 ก.พ.55 ประกอบกับการดำเนินการตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริหารจัดการน้ำยังต้องมีขั้นตอนในการเตรียมการ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสถัดไป คาดว่าจะมีปัจจัยหนุนมาจากการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการผลิต และเม็ดเงินจากการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 55 มีปัจจัยบวกที่สำคัญมาจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่หยุดชะงักไปในช่วงอุทกภัย รวมทั้งการลงทุนของภาคธุรกิจในการฟื้นฟูสายการผลิตและสถานประกอบการที่ได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐนั้น คาดว่าจะมีการใช้จ่ายเม็ดเงินทั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 55 และงบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 จำนวน 350,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะมีโครงการส่วนหนึ่งที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ แม้คาดว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่จากพ.ร.ก. ดังกล่าวที่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาจจะเริ่มต้นได้ชัดเจนในปี 2556 ก็ตาม

"ผลกระตุ้นจากกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับปัญหาอุทกภัยทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน จะมีส่วนหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยร้อยละ 1.0 ของจีดีพี และมีโอกาสสูงไปกว่านั้น ถ้ารัฐบาลสามารถผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ ให้มีความคืบหน้าได้รวดเร็ว" เอกสารเผยแพร่ระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้การใช้จ่ายเพื่อการพลิกฟื้นประเทศหลังอุทกภัยจะเป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจระยะสั้นในปี 55 แต่หากมองในระยะที่ไกลออกไป คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บทเรียนจากความสูญเสียมูลค่ามหาศาลจากภัยพิบัติอุทกภัยที่ผ่านมาได้เข้ามามีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติที่อาจต้องหันกลับมาพิจารณากลยุทธ์การลงทุน โดยคงมีการหยิบยกประเด็นการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการกำหนดฐานที่ตั้งของการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่บริษัทต่างชาติที่ผ่านประสบการณ์ภัยพิบัติในประเทศไทย อาจเล็งเห็นถึงความจำเป็นในสร้างความสมดุลระหว่างการกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนควบคู่ไปกับการรักษาโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทยไว้ต่อไป

"ภายใต้สภาวะการณ์ที่ยากจะคาดคะเนถึงแนวโน้มการเกิดอุทกภัยในปีนี้ ก็อาจทำให้การลงทุนใหม่ๆ ของภาคธุรกิจบางส่วนมีโอกาสที่จะชะลอออกไปเพื่อรอความชัดเจนของสถานการณ์น้ำและแผนการรับมือของทางการไทยในฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงในปีนี้ก่อน ซึ่งผลของการดำเนินมาตรการของรัฐในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ จะเป็นทั้งบทพิสูจน์และเป็นตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดทิศทางการลงทุนจากต่างประเทศในระยะต่อไป" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกจากปัจจัยด้านอุทกภัยแล้ว เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เมื่อความสามารถในการแข่งขันในด้านต้นทุนการผลิตของไทยเริ่มสูงขึ้นกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และช่วงห่างของความแตกต่างด้านต้นทุนจะยิ่งกว้างมากขึ้นไปตามการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย

ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศจึงต้องมุ่งวางรากฐานรองรับการพัฒนาของภาคเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยที่ก้าวขึ้นไปอีกระดับของห่วงโซ่การผลิต (Value Chain) ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต บนพื้นฐานขององค์ความรู้และประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ