นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงมาตรการดูแลเรื่องยางพาราว่า มีมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการ 2 เรื่องเรื่องแรก คือ ต้องมีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยางพารา 4 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ยางพาราให้ชัดเจนว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า กระทรวงต่างๆ จะสามารถดำเนินการด้านยางพาราในภารกิจที่รับผิดชอบได้มากน้อยเพียงใด
โดยกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่ผู้ผลิต, กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ขาย, กระทรวงการคลังอำนวยความสะดวกเรื่องการส่งเสริมการลงทุนให้เกษตรกร และกระทรวงอุตสาหกรรมดูแลเรื่องการแปรรูปผลผลิต ทั้งนี้ จะกำหนดให้ยางพาราเป็นโมเดลพืชชนิดแรกที่ทำยุทธศาสตร์นำร่อง จากนั้นจึงจัดการกับพืชชนิดอื่นต่อไป
เรื่องต่อมา คือ การเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย ให้มีการรวม 3 หน่วยงานยาง คือ สถาบันวิจัยยาง องค์การสวนยาง และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เป็นหน่วยงานเดียว คือ การยางแห่งประเทศไทย โดยจะมีการปรับเงินเซสหรือเงินสงเคราะห์มาพัฒนาเกษตรกรให้สามารถพึ่งตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งจากเท่าที่มีการหารือและติดตามข้อมูลพบว่าหลายฝ่ายเห็นด้วยกับความคิดรวมองค์กรดังกล่าว แต่ถ้าหากมีความเห็นค้านก็พร้อมรับฟัง
"ในระหว่างที่ พ.ร.บ.การยางฯ ยังไม่มีผล จะเร่งดำนินการขยายตลาดยางพาราไปยังยุโรปและเอเซีย โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับผู้ว่าราชการเมืองตงหยิงแล้วในเบื้องต้นถึงการหาแนวทางเรื่องการส่งออก และรับซื้อยางพารากับประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีแผนการขยายตลาดยางไปยังประเทศอินเดียด้วย เนื่องจากมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจทุกด้าน" รมช.เกษตรฯ กล่าว