ครม.มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแผนพัฒนาโครงการในภาคอีสานของกรอ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 22, 2012 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ(กรอ.) เกี่ยวกับแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ โดยครม.มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอและพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้าง 11 โครงการอาทิ รถไฟรางคู่- กทม. - หนองคาย โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และต้องทำให้เสร็จภายในปี 2562

ขณะเดียวกันก็มีแผนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ - หนองคาย งบ 150,000 ล้านบาท สร้างถนนเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อสู่ประชาคมอาเซียน การขยายช่องจราจร 4 ช่องทาง การปรับปรุงเส้นทางหลวงหมายเลข 211-212 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ริมน้ำโขง การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร นครพนม หนองคาย

ขณะเดียวกัน ครม.มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาความเป็นไปได้ในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวอุดรธานี- ขอนแก่น โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนโครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง ชีมูล ด้วยหลักแรงโน้มถ่วงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาและเสนอต่อ กยน.

ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยและสภาความมั่นคงแห่งชาติ พิจารณาการเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่จ.นครพนมด้วย

นายอนุสรณ์ ยังเปิดเผยถึงการทบทวนโครงการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดย ครม.อนุมัติโครงการของกรมชลประทานเพิ่ม 653 ล้านบาท และสั่งชะลอ 74 โครงการงบประมาณ กว่า 10,000 ล้านบาท เนื่องจากหลายหน่วยงานไม่สามารถเสนอของบประมาณได้ทันในกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนดในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ด้านนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณ 964 ล้านบาท เป็นงบประมาณผูกพันข้ามปี 2555 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและการกักเก็บน้ำ โดยการฟื้นฟูแหล่งน้ำห้วยหลวง หนองหาน กุมภวาปี ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยทำให้มีการกักเก็บได้เพิ่ม 10 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี จากเดิม 102 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ทำให้มีประสิทธิภาพ 112 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้ 56,000 ไร่ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และ ระบบนิเวศ โดยระยะเวลาก่อสร้าง ต้องทำให้แล้วเสร็จ 960 วัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ