ดัชนีดาวโจนส์ล่วงหน้าปรับตัวลดลง 11 จุด หรือไม่ถึง 0.1% แตะที่ 12,934 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ล่วงหน้าลดลง 0.1% แตะ 1,358.7 จุด ณ เวลา 6.21 น.ตามเวลานิวยอร์ก หลังมีรายงานว่าภาคการผลิตและภาคบริการยูโรโซนหดตัวเหนือความคาดหมายในเดือนกุมภาพันธ์ และภาคการผลิตของจีนก็หดตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
หุ้นเดลล์ร่วงลง 5.7% หลังบริษัทเปิดเผยหลังตลาดปิดทำการเมื่อวานนี้ว่า รายได้ไตรมาสแรกจะลดลง 7% สู่ระดับ 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์
แม้ว่าดัชนีล่วงหน้าจะปรับตัวลดลง แต่ทิศทางของดัชนีถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยในปีนี้ดัชนี S&P บวกขึ้นแล้ว 8.4% เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวและวิกฤตหนี้ยูโรโซนสามารถควบคุมได้ โดยเมื่อวานนี้ ดัชนีดาวโจนส์ก็พุ่งขึ้นเหนือระดับ 13,000 จุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551
ทั้งนี้ มาร์กิต อิโคโนมิกส์ รายงานว่า ภาคการผลิตและภาคบริการยูโรโซนหดตัวเหนือความคาดหมายในเดือนกุมภาพันธ์ หลังเศรษฐกิจยูโรโซนหดตัวในไตรมาส 4 และการที่รัฐบาลหลายประเทศลดงบประมาณเพื่อต่อสู้กับวิกฤตหนี้สินส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
จากการประเมินเบื้องต้นของมาร์กิตนั้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการหดตัวลงสู่ระดับ 49.7 จุดในเดือนกุมภาพันธ์ จาก 50.4 จุดในเดือนมกราคม สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 50.5 จุด และตัวเลขต่ำกว่า 50 จุดถือว่าอยู่ในภาวะหดตัว
ส่วน HSBC เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นเดือนก.พ.ของจีน เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 49.7 ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับดัชนี PMI ขั้นสุดท้ายของเดือนม.ค.ที่ระดับ 48.8 แต่ภาคการผลิตของจีนยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการหดตัวในภาคดังกล่าว และสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมด้านการผลิตยังคงชะลอตัวลง โดยนับเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50