นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ กฟผ.ได้จัดเตรียมแผนบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ 3 แหล่งต้องหยุดซ่อมบำรุงในบางช่วง ประกอบด้วย แหล่งเยตากุนในประเทศพม่า, แหล่งบงกชในอ่าวไทย และแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย
ในส่วนของแหล่งเยตากุนมีแผนจะหยุดซ่อมบำรุงในวันที่ 8-17 เม.ย.55 ส่งผลให้การจัดส่งก๊าซฯ จากพม่าหายไปทั้งหมดรวม 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งเยตากุนทำให้แหล่งยานาดาต้องหยุดจ่ายก๊าซฯ ด้วย เพราะตามกระบวนการผลิตจะนำก๊าซฯ จากทั้งสองแหล่งมีผสมกันเพื่อให้ค่าความร้อนอยู่ในอัตราที่จะส่งให้กับโรงไฟฟ้าที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย เช่น โรงไฟฟ้าราชบุรี เป็นต้น
โดยผลกระทบจากการหยุดจ่ายก๊าซฯ จากประเทศพม่า คาดว่าจะทำให้กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซฯ หายไปประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ แต่จะมีการวางแผนให้โรงไฟฟ้าที่รับก๊าซฯ เหล่านี้หยุดซ่อมบำรุงในช่วงสงกรานต์แทนซึ่งจะทำให้ลดกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าทางฝั่งตะวันตกลงไปด้วย
ส่วนแหล่งบงกชจะหยุดซ่อมบำรุงในวันที่ 25 พ.ค.-8 มิ.ย.55 จะส่งผลให้การจัดส่งก๊าซฯ หายไปจากระบบประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนแหล่งเอราวัณนั้นมีแผนจะหยุดซ่อมบำรุงในวันที่ 1-8 ส.ค.55 ส่งผลให้การจัดส่งก๊าซฯ หายไปจากระบบประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ทั้งนี้ กฟผ.จะหารือกับ บมจ.ปตท.(PTT) เพื่อวางแผนจัดหาเชื้อเพลิงประเภทอื่นมาทดแทน เช่น น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล
โดยปีนี้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมากกว่า 5% จากปีก่อนที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับปี 53 โดยในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 5.8%
สำหรับแผนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ในปีนี้มีโรงไฟฟ้าเค็กโก่-วัน ของกลุ่มโกลว์พลังงาน กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ จะเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ในข่วงเดือน เม.ย.55 จากปัจจุบันที่เริ่มทดลองเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าแล้ว ซึ่งปีนี้จะมีโรงไฟฟ้าแห่งนี้เพียงโรงเดียวที่เป็นโรงขนาดใหญ่ก่อสร้างแล้วเสร็จจ่ายไฟฟ้าได้ แต่ก็ยังมีสำรองในระบบประมาณ 20%
ส่วนในปี 56 จะไม่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เข้าระบบ แต่ในปี 57 จะมีโรงไฟฟ้าจะนะ 2 จังหวัดสงขลา และโรงไฟฟ้าวังน้อย 4 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังการผลิตประมาณ 800 เมกะวัตต์ ก่อสร้างแล้วเสร็จจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ส่วนโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้า
ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า ขณะนี้ กฟผ.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะโรงใหม่ ขนาด 600 เมกะวัตต์ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดินเครื่องที่ 4-7 ที่มีอายุเฉลี่ยโรงไฟฟ้าประมาณ 27-28 ปี ซึ่งเป็นโรงเก่าที่มีประสิทธิภาพลดลง โดยโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4-7 มีขนาดโรงละ 150 เมกะวัตต์ รวม 600 เมกะวัตต์ แต่มีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 4 ล้านตันต่อปี แต่หากก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ โรงใหม่จะลดการใช้ถ่านหินเหลือประมาณ 2.65 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะทำให้ลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยขณะนี้โรงไฟฟ้าใหม่อยู่ระหว่างการทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายในเดือน ส.ค.55
ส่วนโรงไฟฟ้าโรงที่ 8-13 ขณะนี้มีอายุเฉลี่ยประมาณ 20 ปี กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะก่อสร้าวโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทน หรือยืดอายุโรงไฟฟ้าเก่า โดยจะดูผลจากการเปลี่ยนแปลงโรงไฟฟ้าใหม่โรงที่ 4-7 ก่อน และจะดูว่าจะผลผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นหรือไม่ โดยคาดว่ากำลังการผลิตรวมที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะที่จะดำเนินการในอนาคตคาดว่าจะมีประมาณ 2,400 เมกะวัตต์
สำหรับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าในอนาคต(PDP) ขณะนี้ยังมีระยะเวลาในการดำเนินการทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะโครงการแรกจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในปี 62 ซึ่งจะใช้เวลาในการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม 2 ปี และใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี
และจากผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่ที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 14-15 แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเล เริ่มตั้งแต่จังหวัดตราด ไปจนถึงจังหวัดชายทะเลภาคใต้ เช่น ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง ซึ่งขั้นตอนจากนี้ก็จะต้องไปสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ให้เข้าใจว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีเทคโนโลยีใหม่ที่ลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น นอกจากนี้ถ่านหินที่ใช้จะเป็นถ่านหินนำเข้าที่มีคุณภาพดี และมีความมั่นคงทางด้านเชื้อเพลิงสูง หากเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยได้ จะทำให้ลดการใช้ก๊าซฯ ลงได้มาก จากปัจจุบันมีการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้ามากถึง 70%