ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรพุ่ง จากคาดการณ์อีซีบีปล่อยกู้แบงก์พาณิชย์

ข่าวต่างประเทศ Saturday February 25, 2012 08:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันคืนนี้ (24 ก.พ.) เพราะได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะปล่อยกู้เกือบ 5 แสนล้านยูโรให้กับแก่ธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำในวันพุธหน้านี้ ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี

ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้น 0.67% แตะที่ 1.3456 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.3367 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์พุ่งขึ้น 0.95% แตะที่ 1.5885 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5885 ดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 1.35% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 81.000 เยน จากระดับ 79.920 เยน แต่ร่วงลง 0.67% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.8952 ฟรังค์ จากระดับ 0.9012 ฟรังค์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลง 0.06% แตะที่ 1.0698 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0704 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 0.11% แตะที่ 0.8358 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8349 ดอลลาร์สหรัฐ

สกุลเงินยูโรได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า อีซีบีอาจจะปล่อยกู้เกือบ 5 แสนล้านยูโรแก่ธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำในวันพุธที่ 29 ก.พ. โดย ผ่านทางปฏิบัติการรีไฟแนนซ์ระยะ 3 ปี

ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับขนาดการปล่อยกู้รอบแรกที่ระดับ 4.89 แสนล้านยูโรในเดือนธ.ค. 2554 ซึ่งการปล่อยกู้ระยะยาวรอบแรกของอีซีบีนั้น ได้ช่วยลดแรงกดดันในตลาดพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซน และช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลสเปนและอิตาลีลงด้วย

ด้านนายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ใช้ประโยชน์จากปฏิบัติการปล่อยกู้ในครั้งนี้ด้วย

ส่วนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังจากรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงท้ายเดือนก.พ.ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ 75.3 จากระดับ 75.0 ในเดือนม.ค. เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับความคืบหน้าของกรีซนั้น มีรายงานว่ารัฐสภากรีซด้อนุมัติมาตรการแลกเปลี่ยนพันธบัตรกับเจ้าหนี้ภาคเอกชนแล้ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดภาระหนี้ของกรีซลง 1 แสนล้านยูโร โดยขณะนี้ภาระหนี้ของกรีซมีสัดส่วนราว 160% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเกือบส่งผลให้กรีซเข้าสู่ภาวะล้มละลาย

ภายใต้มาตรการแลกเปลี่ยนพันธบัตรนี้ นักลงทุนเอกชนซึ่งถือครองพันธบัตรกรีซราว 2 แสนล้านยูโรจะแบกรับผลขาดทุน 53.5% ของมูลค่าที่ตราไว้บนพันธบัตร และแบกรับผลขาดทุนที่แท้จริงราว 73-74%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ