สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ยันลดเงินนำส่งไม่กระทบผู้ฝาก เหตุศก.ไทยดี แบงก์แข็งแกร่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 27, 2012 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชาชนให้ความสนใจสอบถามเข้ามาเกี่ยวกับกรณีการลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากเหลือ 0.01% จาก 0.4% ตามแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น ทางสถาบันฯ ยืนยันความมั่นใจได้ว่าไม่ได้เป็นปัญหา เพราะสถาบันฯ ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม

แต่ในทางปฏิบัติหากเกิดปัญหาลุกลามจนกระทั่งกระทบระบบสถาบันการเงินขึ้นจริง หน่วยงานภาครัฐก็จะต้องช่วยกันเข้าไปดูแลช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งกรณีประเทศสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ถือเป็นตัวอย่างที่รัฐบาลเข้าไปดูแลสถาบันการเงินในช่วงวิกฤติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงิน

ประกอบกับในขณะนี้ระบบสถาบันการเงินไทยยังแข็งแกร่ง หลังจากมีบทเรียนจากวิกฤติปี 40 ทำให้สถาบันการเงินและประชาชนรวมทั้งผู้กำกับดูแลมีการปรับตัว มีการระมัดระวังป้องกันความเสี่ยง และในขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวที่ดีขึ้น ธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่ง เพราะมีระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงค่อนมั่นคงมีกว่า 1 เท่าจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กำหนด ซึ่งค่อนข้างมั่นคงสูง โอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะมีปัญหาจนถูกปิดมีน้อยมาก

"ผู้ฝากเงินทุกรายไม่ว่าจะมากหรือน้อย ควรจะมีวัคซีนเพื่อป้องกันความเสียหายในอนาคต เมื่อเกิดวิกฤติการณ์กับสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยป้องกันชดเชยสิ่งที่ไม่คาดคิดกับเงินในกระเป๋าให้ปลอดภัยอยู่เสมอ" นายสิงหะ กล่าว

นายสิงหะ กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2554 มีจำนวนผู้ฝากเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองเงินฝากจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากรวมทั้งสิ้นประมาณ 60 ล้านราย ผู้ฝากส่วนใหญ่ 98.45% เป็นผู้ฝากเงินที่มีวงเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยคิดเป็นเงินฝากทุกประเภทที่ได้รับความคุ้มครองมีจำนวนทั้งสิ้น 7.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการคุ้มครองทั้งส่วนของเงินฝากของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ทั้งนี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากมาตั้งแต่เดือนส.ค.51 ซึ่งคุ้มครอง 100% และกฎหมายได้กำหนดให้ปรับการคุ้มครองเงินฝากมาอยู่ 50 ล้านบาทต่อรายในปัจจุบัน และจะลดเหลือ 1 ล้านบาทต่อรายในส.ค.55 ครอบคลุมบัญชีเงินฝากถึง 98.5%

อย่างไรก็ตาม วงเงินคุ้มครองสามารถทบทวนและปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม อย่างเช่นในต่างประเทศหลังเกิดวิกฤติซับไพร์มเมื่อปี 2551 ก็ได้มีการปรับเพิ่มวงเงินการคุ้มครองเงินฝาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ