นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่สหภาพยุโรปได้ขอใช้สิทธิภายใต้ข้อ 28 ของความตกลง GATT ในการปรับเปลี่ยนตารางข้อผูกพันภาษีศุลกากรสินค้าสัตว์ปีกแปรรูปจำนวน 8 รายการ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าสัตว์ปีกแปรรูป ได้แก่ ประเภทของเนื้อไก่แปรรูป เนื้อเป็ดแปรรูป ตับเป็ด และตับห่าน ภายใต้ WTO โดยทางสหภาพยุโรปจะขอใช้ระบบโควตาภาษีแทนระบบเดิมที่เป็นอัตราภาษีตามราคาหรือตามสภาพ ซึ่งฝ่ายไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญในสินค้าดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบ จึงดำเนินการขอเจรจาเพื่อรับการชดเชยจากสหภาพยุโรป
ขณะนี้ได้ข้อสรุปที่ทางสหภาพยุโรปยอมชดเชยให้ไทยแล้ว จำนวน 6 รายการ โดยฝ่ายไทยมีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก ได้เริ่มเจรจามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 ทั้งเรื่องรายละเอียดและรูปแบบการชดเชยในการจัดสรรโควตามาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ไทยสามารถเจรจาจนได้รับจัดสรรปริมาณโควตารายประเทศในปริมาณที่มากกว่าการคำนวณปริมาณโควตาซึ่งระบุไว้ภายใต้ความตกลง GATT ดังนี้
- สินค้าไก่แปรรูป มีสัดส่วนเนื้อมากกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 57 ปริมาณที่จัดสรรให้ไทยคือ 14,000 ตัน จากปริมาณโควตารวมทั้งหมดที่จัดสรรให้ 79,705 ตัน โดยคิดอัตราภาษีในโควตา 10.9% ส่วนอัตราภาษีนอกโควตาที่ 2,765 ยูโร/ตัน
- ไก่แปรรูปปรุงสุก มีสัดส่วนเนื้อไก่น้อยกว่าร้อยละ 25 ปริมาณที่จัดสรรให้ไทยคือ 2,100 ตัน จากปริมาณโควตารวมทั้งหมดที่จัดสรรให้ 2,865 ตัน โดยคิดอัตราภาษีในโควตา 10.9% ส่วนอัตราภาษีนอกโควตา 2,765 ยูโร/ตัน
- เป็ดแปรรูป (ดิบ) มีสัดส่วนเนื้อมากกว่าร้อยละ 57 ปริมาณที่จัดสรรให้ไทยคือ 10 ตัน ถือว่าเป็นการจัดสรรโควตารวมทั้งหมดให้แก่ไทยเพียงประเทศเดียว โดยคิดอัตราภาษีในโควตา 630 ยูโร/ตัน และภาษีนอกโควตา 2,765 ยูโร/ตัน
- เป็ดแปรรูปปรุงสุก มีสัดส่วนเนื้อมากกว่าร้อยละ 57 ปริมาณที่จัดสรรให้ไทยคือ 13,500 ตัน จากปริมาณโควตารวมทั้งหมดที่จัดสรรให้ 13,720 ตัน โดยคิดอัตราภาษีในโควตา 10.9% และนอกโควตา 2,765 ยูโร/ตัน
- เป็ดแปรรูปปรุงสุกที่มีสัดส่วนเนื้อมากกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 57 ปริมาณที่จัดสรรให้ไทยคือ 600 ตัน จากปริมาณโควตารวมทั้งหมดที่จัดสรรให้ 748 ตัน ไม่มีการกำหนดอัตราภาษี
- เป็ดแปรรูปปรุงสุก มีสัดส่วนเนื้อน้อยกว่าร้อยละ 25 ปริมาณที่จัดสรรให้ไทยคือ 600 ตัน จากปริมาณโควตารวมทั้งหมดที่จัดสรรให้ 725 ตันโดยไม่มีการกำหนดอัตราภาษีเช่นเดียวกัน
ส่วนสินค้า อีก 2 พิกัด คือตับเป็ดตับห่าน กับ เนื้อไก่แปรรูปดิบ สหภาพยุโรปไม่ได้เจรจากับฝ่ายไทย เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้ส่งออกหลักในสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา สศก. ได้พิจารณาหนังสือสัญญาดังกล่าวพร้อมทั้งจัดทำหนังสือให้ข้อคิดเห็นต่อร่างข้อตกลงระหว่างไทยและสหภาพยุโรป และได้จัดส่งให้กระทรวงพาณิชย์ใช้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้หนังสือสัญญาดังกล่าวซึ่งเข้าข่ายในการเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้นมีผลผูกพันตามกฎหมายไทย ภายใต้นัยของมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อไป