ธปท. เผยศก.โดยรวมม.ค.อยู่ในเกณฑ์ดี จับตาราคาน้ำมันอาจกระทบเงินเฟ้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 29, 2012 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2555 ฟื้นตัวต่อเนื่องในทุกภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แม้จะมีข่าวแจ้งเตือนการก่อการร้าย โดยในเดือนนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.95 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8 เทียบที่หดตัวร้อยละ 2.2 ในเดือนก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากอาเซียน จีน และรัสเซีย เป็นสำคัญ สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

ขณะที่ภาคการผลิตและอุปสงค์ในประเทศทยอยปรับดีขึ้น สำหรับผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน แม้ผลผลิตข้าวยังหดตัวจากผลกระทบของอุทกภัย แต่ผลผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลังยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 12 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่ในปีก่อนปรับสูงขึ้นมากจากภาวะอุปทานตึงตัวในตลาดโลก ส่งผลให้รายได้เกษตรกร หดตัวร้อยละ 11.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี การฟื้นตัวของภาคการผลิตส่งผลดีต่อการจ้างงาน รายได้ รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และปริมาณ การใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ยังหดตัวแม้จะมียอดค้างจองอยู่มาก เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์นั่งบางรายยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ที่หดตัวร้อยละ 0.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 3.9 เนื่องจากผู้ประกอบการทยอยกลับมาลงทุนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์หลังจากการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาเป็นปกติ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังมีการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่เสียหายจากอุทกภัย ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ปรับดีขึ้น

ภาครัฐยังกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากรอการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ทำให้รายจ่ายรัฐบาลหดตัวทั้งรายจ่ายดำเนินงานและการลงทุนในสินทรัพย์ที่มิใช่ทางการเงิน ขณะที่ภาครัฐยังจัดเก็บรายได้ได้น้อยกว่าปกติ เนื่องจากมีผลของการเลื่อนการนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผลกระทบของอุทกภัย และการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลถึงออกไปจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ส่งผลให้รายได้น้อยกว่ารายจ่าย และรัฐบาลขาดดุลเงินสด 29.7 พันล้านบาท

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.38 ชะลอลงตามราคาอาหารสดที่ชะลอลงหลังปัญหาอุทกภัยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.75 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนจากราคาอาหารสำเร็จรูป สำหรับการไหลออกสุทธิของเงินทุนเคลื่อนย้ายในเดือนนี้เป็นการไหลออกจากการไปลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจและนักลงทุนไทยเป็นสำคัญ

นายเมธี กล่าวว่า ภาพรวมการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปี 55 น่าจะปรับสูงกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ที่ 4.9% ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน มี.ค.นี้จะมีการพิจารณาเรื่อง GDP ด้วย แต่ไม่ใช่รอบของการประกาศ แต่หากเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยก็จะมีการประกาศตัวเลข

"เศรษฐกิจเดือนม.ค. ฟื้นตัวต่อเนื่องในทุกหมวด โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่กลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ ขณะที่การผลิตมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ช่วยให้ปัญหาในการขาดแคลนสินค้าคลี่คลายลง ส่วนอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แนวโน้มการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากอาหารสดลดลง" นายเมธี กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ธปท. จับตาดูการเร่งตัวของราคาน้ำมันดิบโลกที่ตอนนี้สูงกว่าสมมติฐานของธปท. ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 122 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 112 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่สมมติฐานราคาน้ำมันทั้งปีอยู่ที่ 103.3 เหรียญ/บาร์เรล โดยในครึ่งปีแรกมองไว้ที่ 106.5 เหรียญ/บาร์เรล

"ราคาน้ำมันอาจจะเร่งเงินเฟ้อให้ขึ้นไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ใส่สมมติฐานการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทไว้แล้ว ตอนแรกที่มีการประกาศก็มีผลทางจิตวิทยาเข้าไปในตลาดแล้ว ดังนั้นถ้าเม.ย.มีการประกาศใช้ก็คงจะไม่เห็นการแตกตื่น" นายเมธี กล่าว

นายเมธี กล่าวว่า ในวันนี้ไม่มีการรายงานตัวเลขด้านการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากทางกรมศุลกากรมีการปรับตัวเลขพิกัดสินค้าใหม่เพื่อให้เข้ากับผู้ค้าคู่แข่งที่มีการปรับไปแล้ว โดยจะมีการปรับทุก 5 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าส่งออกม.ค.น่าจะเป็นบวกเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และธ.ค.54 แต่ว่าคงขยายตัวไม่สูงมาก เพราะเพิ่งฟื้นจากน้ำท่วม

ส่วนการนำเข้า ม.ค. คาดว่าจะต่ำกว่าในเดือนธ.ค.เล็กน้อย เนื่องจากในเดือนธ.ค.มีการเร่งนำเข้าทองคำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ