ก.เกษตรฯเสนอของบแก้ปัญหาผลไม้ก่อนพีค เน้นเสริมกลไกตลาดไม่แทรกแซงราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 29, 2012 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ได้พิจารณาได้เตรียมการแก้ไขปัญหาผลไม้ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ในการดำเนินการสร้างเสถียรภาพด้านราคาไม่ให้ผลผลิตตกต่ำได้ทันต่อสถานการณ์ โดยเน้นการไม่แทรกแซงราคา แต่จะส่งเสริมสภาพคล่องการตลาด ประกอบด้วย 1. การเตรียมการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ในภาคตะวันออก โดยขออนุมัติงบประมาณจาก คชก. เป็นวงเงินจ่ายขาด 180.6 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ตะวันออก ปี 2555 พื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง ผลผลิตเป้าหมายรวม 87,800 ตัน คิดเป็น 11.62 % จากผลผลิตทั้งหมด 755,150 ตัน โดยดำเนินการใน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การบริหารจัดการคุณภาพผลผลิต 2. การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต 3. การส่งเสริมการแปรรูป และ 4. การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทย โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 เมษายน — 31 กรกฎาคม 2555 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก

2. การเตรียมการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ในภาคเหนือ โดยจะขออนุมัติงบประมาณจาก คชก. เป็นวงเงินจ่ายขาด 45 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาลิ้นจี่ปี 2555 พื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และน่าน โดยดำเนินการใน 3 มาตรการ ได้แก่ การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต, ส่งเสริมการแปรรูปลิ้นจี่อบแห้ง และประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายดำเนินการในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือน พ.ค. ถึง 15 มิ.ย. 55 คิดเป็นปริมาณทั้งสิ้น 17,740 ตัน จากปริมาณผลผลิตลิ้นจี่ทั้งหมดใน 4 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งในปี 2555 คาดว่าจะมีประมาณ 62,018 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 93.51%

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการแก้ไขปัญหาราคาลำไยอบแห้งตกต่ำฤดูการผลิต ปี 2553 โดยมีมติให้ขอสนับสนุนงบประมาณจากงบกลาง เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีใช้ลำไยอบแห้งทั้งเปลือกเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ปริมาณ 6,236.624 ตัน ในวงเงินชดเชย 152 ล้านบาท พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบในการปรับปรุงยุทธศาสตร์การพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ.2553 — 2557 และยุทธศาสตร์มะพร้าวน้ำหอม พ.ศ.2555 — 2559 โดยจัดให้มีการประชุมโต๊ะกลมเปิดรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อปรับกลยุทธ์ให้ครอบคลุมและมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ รวมทั้งมีหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแต่ละกลยุทธ์อย่างเป็นรูปธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ