โพลล์เผยปชช.ยังไม่มีความเข้าใจกลุ่มประเทศอาเซียน-คำสำคัญพื้นฐานศก.ดีพอ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 1, 2012 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, ABAC — SIMBA) สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง กลุ่มประเทศอาเซียน องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ และคำสำคัญพื้นฐานด้านเศรษฐกิจในความรู้ ความเข้าใจ ของสาธารณชน เมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียนและในอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้าประชาชนคนไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มตัว

โดยเมื่อสอบถามถึงความรู้ความเข้าใจต่อจำนวนกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.9 ไม่ทราบว่ามีกี่ประเทศ และตอบผิด ในขณะที่ร้อยละ 39.1 ทราบและสามารถระบุได้ถูกต้อง คือ มีจำนวนทั้งสิ้น 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นอกจากนี้เมื่อสอบถามกลุ่มคนที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.6 เข้าใจว่าประเทศจีนอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ในขณะที่เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 52.3 เข้าใจว่าประเทศญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน และจำนวนมากหรือร้อยละ 41.7 เข้าใจว่าประเทศอินเดียอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย

เมื่อสอบถามว่าทราบความหมายของคำว่า “อัตราเงินเฟ้อ” หรือไม่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.6 ไม่ทราบว่า “อัตราเงินเฟ้อ” หมายถึงอะไร ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 22.4 ทราบว่า “อัตราเงินเฟ้อ” หมายถึงอะไร

และเมื่อถามต่อถึงความหมายของ “จีดีพี” พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.0 ไม่ทราบว่า “จีดีพี” คืออะไร มีเพียงร้อยละ 6.0 เท่านั้นที่ทราบว่า “จีดีพี” คืออะไร

ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่หรือเกินกว่าร้อยละ 90 ไม่รู้จักองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ โดยร้อยละ 97.5 ระบุไม่รู้จักธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ร้อยละ 95.2 ระบุไม่รู้จักเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ร้อยละ 91.8 ระบุไม่รู้จักธนาคารโลก (World Bank) และร้อยละ 91.3 ระบุไม่รู้จักกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้น

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคฯ กล่าวว่า เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจต่อกลุ่มประเทศอาเซียนและคำสำคัญพื้นฐานด้านเศรษฐกิจไม่เพียงพอ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มหรือกลุ่มคนที่อยู่บนยอดปิระมิดอาจจะถูกมองได้ว่า เป็นการเกาะกลุ่มรวมตัวกันของกลุ่มผลประโยชน์ (interest groups) และแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มคนบางคนบนยอดปิระมิดนั้น จึงน่าจะพิจารณาให้การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นการรวมตัวกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยทำรากฐานนั่นคือประชาชนรากฐานใหญ่ของแต่ละประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจต่อคำสำคัญพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนในช่วงเวลานี้ก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

“ดังนั้น ในระยะสั้น แหล่งข่าวและสื่อมวลชนจึงจะเป็นคณาจารย์ที่สำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้แก่สาธารณชนทราบ เวลาที่อธิบายหรือใช้คำสำคัญพื้นฐานด้านเศรษฐกิจในการให้สัมภาษณ์หรือ “เล่าข่าว” น่าจะให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอธิบายถึงความหมายและบทบาทสำคัญของคำศัพท์พื้นฐานด้านเศรษฐกิจต่อวิถีชีวิตของประชาชนคือทำให้เรื่องประชาคมอาเซียนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนให้มากขึ้นน่าจะเป็นทางออกของปัญหาที่ค้นพบในการวิจัยครั้งนี้” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว

กรณีศึกษาตัวอย่างดังกล่าว สำรวจจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ใน 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา จำนวน 2,539 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1—29 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ